504 จำนวนผู้เข้าชม |
การเลือกกินในเต่าบก
โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (อาจารย์แก้ว) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
การเลือกกินในสัตว์เป็นปัญหาในเชิงการจัดการที่ยุ่งยาก และเสี่ยงทำให้สัตว์ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและเกิดโรคทางโภชนาการ ทั้งที่ผู้เลี้ยงพยายามปรับเปลี่ยนอาหารที่เหมาะสม แต่สัตว์ไม่ยอมกิน เมื่อประเมินแล้วก็เกิดจากความผิดพลาดในการเลี้ยงตั้งแต่ต้น เพราะสัตว์เมื่อแรกเกิดต้องมีการเรียนรู้และจดจำ ที่ได้จากสัตว์ตัวอื่น ผู้เลี้ยง ไม่ใช่แค่สัญชาตญาณแต่กำเนิด เรื่องพฤติกรรมการกินจึงเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการเรียนรู้ สัตว์ที่พบพฤติกรรมเลือกกินที่พบมาก มักจะเป็นนก แมว ชูการ์ไกลเดอร์ และอีกกลุ่มที่พบบ่อยคือ เต่าบกชนิดต่างๆ
ในเต่าบกจะมีสัญชาตญาณในเรื่องของการเลือกพืชเป็นอาหารเป็นเบื้องต้น และพบพฤติกรรมการเลือกจากแสง สี กลิ่น และรส บางตัวจึงมีพฤติกรรมแทะและกลืนสิ่งแปลกปลอม ทั้งเชือก เดินหาและกัดรองเท้าเรา ตะปูหรือโลหะที่มีแสงวิบวับ กลิ่นและรสก็มีผลต่อการกิน ผลไม้หลายชนิดจะเป็นที่ชื่นชอบแม้จะไม่เคยกินมาก่อน พบว่ากลิ่นของผลไม้และผักสดที่เรียกเต่าเดินหามากกว่าของแห้งและกลิ่นเบาบาง ขณะที่รสชาติจะมีผลต่อการกินต่อหรือหยุดการกิน ซึ่งหากเป็นพวกพืชหรือใบไม้ ผู้เลี้ยงจึงมักทำการทดสอบได้ไม่ยาก เต่าจะลองกินและเรียนรู้จะกินต่อหรือไม่ โดยพวกว่าใบไม้ที่มีรสฝาด และแทนนินสูงมักจะถูกปฏิเสธ ขณะที่พืชที่มียางไม้ที่ผู้เลี้ยงมักจะเข้าใจว่าเต่าจะไม่กิน เป็นพืชที่ถูกเลือกบ่อย นอกจากนี้พบว่าของสดจะได้ความสนใจมากกว่าของแห้ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมตามธรรมชาติที่พบว่าในภาวะแห้งน้ำ สัตว์จะกินน้ำก่อนอาหารและเกิดอาการเบื่ออาหาร หรือเลือกกินอาหารที่มีความชุ่มน้ำมากกว่า ขณะที่เต่าที่ถูกฝึกกินของแห้ง ทั้งใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง และอาหารเม็ด มักถูกฝึกมาแต่เด็กและไม่อยู่ในสภาวะแห้งน้ำ โดยมีการจัดน้ำไม่ขาดและบ่อแช่ตัว เต่าบกเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้องให้ของสดเลย แต่โอกาสได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์กว่าจะมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในเต่าบกยังพบพฤติกรรมเรียนรู้จากการเลียนแบบ ตัวใดสักตัวหนึ่งกิน ตัวอื่นจะเริ่มเรียนรู้และกินตาม พืชแต่ละชนิดให้ความสนใจไม่เท่ากัน เช่น ใบของต้นไทรจะให้ความน่ากิน (กินได้มาก) กว่าใบหม่อน แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มหรือทุกตัว กระบองเพชรไม่ใช่ยอดนิยมเสมอไป เพราะนอกจากความน่ากินยังอาจเกิดจากการเรียนรู้
มีปัจจัยมากมายที่มีผลต่อการเลือกกิน และหากประเมินแล้วว่าการกินอาหารแห้งที่หาได้ง่ายและทดแทนได้ในยามขาดแคลนพืชสด และการเสริมอาหารเม็ดจะช่วยลดความเสี่ยงการขาดสารอาหารและเพิ่มอัตราเจริญเติบโต ผู้เลี้ยงจะมีความพยายามหาทางจนเต่าของตนเริ่มกินจนได้ เช่น การผสมผสานกับผักผลไม้ การปรุงแต่งกลิ่นและสีโดยการคลุกกับผลไม้ เช่น ขนุน ชมพู่ แต่เพียงบางๆ การทำให้ป่น แล้วปั้นเป็นก้อนๆหรือกอง โดยผสมหรือโรยบนหน้าพืชสด แล้วค่อยเพิ่มจำนวน อย่างไรที่ดีที่สุด คือ การฝึกกินแต่เด็กในช่วงเริ่มหัดกิน และบางบ้านโชคดีมากที่เต่าบางตัวเลือกกินได้เลย
อาหารเม็ดทดแทนพืชที่ใช้เป็นประจำในเต่าบก จะมีอะคาเซีย ที่เป็นใบไม้จากอัฟริกา และอัลฟัลฟ่าเพื่อเสริมโปรตีน ในกลุ่มหญ้าจะมีทิโมธีและโอ๊ต ส่วนใหญ่อาหารอัดเม็ดเหล่านี้จะมีการผสมแร่ธาตุและวิตามินมาแล้ว หรือใช้ในรูปผงป่นมาคลุกน้ำปั้นก้อนจะเหมาะกับเต่าเด็กหรือเต่าที่กำลังฝึกใหม่ หรือจะโรยบนพืชสดในกลุ่มที่อย่างไรก็ไม่ยอมกิน จะค่อยๆเรียนรู้และยอมรับมากขึ้นในที่สุด ซึ่งบางตัวใช้เวลานานกว่า 3 เดือนขึ้นไป ผู้ปฏิบัติย่อมต้องใช้ความอดทนอย่างมาก แต่หากต้องการอัตราเจริญเติบโตที่ดีกว่า จะมีการเสริมอาหารเม็ดสำหรับเต่าบก ที่เหมาะสมควรมีพวกโพรไบโอติกส์ วิตามินและแร่ธาตุ อาหารเหล่านี้ควรฝึกแต่อายุยังน้อย จะได้กินได้เลย
ปัจจุบันนี้อาหารเม็ดสำหรับเต่าบกมีการพัฒนาไปไกลมาก และมีการเสริมแร่ธาตุและวิตามิน เพื่อลดปัญหาเรื่องการขาดสารอาหารที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคเมตาบอลิกกระดูกจากสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัส และคอพอกหรือกอยท์เทอร์จากสมดุลไอโอดีน ไปจนถึงวิตามินเอ ทดแทนจากเบต้าแคโรทีนซึ่งเราเสริมได้จากพืชสีเขียว เหลือง ส้ม แดงได้ หรือจากอาหารเม็ด และวิตามินดี (D3) ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานจะใช้ D3 เป็นหลัก ใช้ D2 ได้น้อยหรือใช้ไม่ได้เลย และ D3 กลับมีน้อยมากในพืชต่างๆ จึงควรได้รับการเสริมในเต่าเลี้ยงที่เลือกกินเองไม่ได้