หญ้าโอ๊ตระยะที่ดีที่สุดสำหรับกระต่ายและสัตว์กินพืชขนาดเล็ก

4799 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หญ้าโอ๊ตระยะที่ดีที่สุดสำหรับกระต่ายและสัตว์กินพืชขนาดเล็ก

หญ้าโอ๊ตระยะที่ดีที่สุดสำหรับกระต่ายและสัตว์กินพืชขนาดเล็ก


โดย อ. แก้ว (ผศ.น.สพ.ดร. สมโภชน์ วีระกุล)



พวกเรานิยมใช้หญ้าโอ๊ตเลี้ยงกระต่าย แกสบี้ ชินชิลล่ากันไม่น้อย ลองมาอ่านดูว่าหญ้าโอ๊ตเป็นอย่างไร

ต้นข้าวบางทีอาจจะไม่เหมาะสมเลย เมื่อนำมาใช้เป็นหญ้าแห้ง เพราะต้นที่พ้นระยะเก็บเกี่ยวเมล็ดไปแล้วจะกลายเป็นฟางข้าวที่แก่เกินไป และจะให้แต่เปลือกไม้ที่มีระดับของเยื่อใยชนิดย่อยไม่ได้สูงเกินไป ได้แก่ ลิกนิน และเซลลูโลส กระต่ายจะขาดเยื่อใยชนิดที่จะนำไปใช้หมักเป็นพลังงานหรือชนิดย่อยได้ จะผอมและถ่ายมูลแข็งใหญ่และมากผิดปกติ และยังพบว่าฟางข้าวจะมีความเป็นด่างมากเกินไป อาจทำให้ระดับกรด-ด่างในทางเดินอาหารเปลี่ยนแปลง

แต่พบว่ามีการนำต้นข้าวโอ๊ตมาใช้ประโยชน์เป็นหญ้าแห้ง ซึ่งต้องมีการจัดการแปลงหญ้าที่ดี โดยเลือกระยะในการตัดที่เหมาะสมเพื่อจะให้ได้หญ้าที่เหมาะสำหรับการไปเลี้ยงสัตว์ช่วงวัยเด็ก นั่นหมายถึงคุณค่าอาหารต้องดีเยี่ยมต่อการเจริญเติบโต

ระยะที่เหมาะสมที่สุดในการตัดนำมาใช้ คือ ช่วงเริ่มออกดอกและได้ผลอ่อน หรือมีการสะสมแป้ง เรียกว่า ระยะน้ำนมระยะแรก (early milk stage) เมื่อทำการบีบที่ยอดดอกจะพบน้ำข้าวไหลออกมา บางทีก็เรียกว่า watery-ripe stage ถ้าเลยระยะนี้ไปพบว่าคุณค่าของหญ้าจะลดลงอย่างรวดเร็ว ระยะการตัดจึงพลาดไม่ได้ บางแหล่ง เช่น ออสเตรเลียจะพิจารณาตัดก่อนช่วงระยะน้ำนมด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้เลยช่วงที่เหมาะสม

จะต่างจากหญ้าชนิดอื่นๆ ที่จะอยู่ในช่วงเจริญเติบโตทางลำต้นและใบในช่วง mid-bud ก่อนการออกดอก (vegetative stage) แต่หากปล่อยจนข้าวแก่แล้ว ตัวลำต้นและก้านใบจะมีคุณค่าต่ำลงอย่างมาก

ข้อดีของหญ้าโอ๊ตจึงแตกต่างจากหญ้าชนิดอื่น คือการให้พลังงานจากระยะน้ำนมของข้าว มักนิยมผสมกับอัลฟัลฟ่าเพื่อเพิ่มระดับโปรตีนในอาหารสำหรับเลี้ยงลูกสัตว์ และแม่ และยังให้ระดับเยื่อใยอาหารกลุ่มย่อยไม่ได้ (indigestible fibers) สูงกว่าหญ้าทิโมธี เพราะระยะการตัดแก่กว่าทิโมธี จึงช่วยกระตุ้นการขับถ่ายเม็ดมูลใหญ่ขึ้น นอกจากนี้เปลือกไม้ที่แก่กว่านี้จะมีซิลิกาอยู่มาก จึงช่วยในการขัดฟัน

แม้ว่าระดับโปรตีนจะอยู่ในระดับ 6-9% สำหรับหญ้าโอ๊ตระดับพรีเมี่ยม ซึ่งต่ำกว่าหญ้าทิโมธีระดับมาตรฐาน แต่เพิ่มคุณค่าด้วยการใช้ร่วมกับอัลฟัลฟ่าได้

หญ้าโอ๊ตยังให้ระดับวิตามินเอสูงกว่าหญ้าชนิดต่างๆ อันนี้สำคัญ เพราะสัตว์กินพืชทุกชนิดเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน

ข้อดีอีกประการที่หญ้าโอ๊ตได้เปรียบ คือ การเก็บเกี่ยวในระยะน้ำนมช่วงแรกนี้ จะทำให้หญ้ามีความหอมและรสชาติดี เป็นที่ถูกใจของสัตว์

หญ้าโอ๊ตจากออสเตรเลียจะได้รับความนิยมสูงเพราะจริงจังกับระยะของการตัดหญ้า ให้ได้คุณค่าสูงสุดจริงจัง ประเทศที่นำเข้าจากออสเตรเลียมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ ญี่ปุ่น

สัตวแพทย์มักแนะนำให้ใช้หญ้าโอ๊ตในกระต่ายที่พบการสึกของฟันไม่เหมาะสมในระยะแรก จะลดการเกิดฟันยาวผิดปกติ จึงช่วยไม่ให้เกิดความรุนแรงในระยะถัดไป

#แรนดอล์ฟเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านอาหารสัตว์กินพืช
#หญ้าโอ๊ตแรนดอล์ฟนำเข้าจากออสเตรเลีย
#RandolphAnimalHealthcare
#ExoticVet

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้