การเพิ่ม VO2 Max ในไก่ชน (ep.3)

1731 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเพิ่ม VO2 Max ในไก่ชน (ep.3)

การเพิ่ม VO2 Max ในไก่ชน (ep.3)

ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)

จากบทความที่แล้ว ได้อ่านหลักการฝึกแบบ HIIT ซึ่งมีวิธีการมากมาย แล้วแต่ใครจะไปปรับใช้กับไก่ของตน บทความนี้จะนำเสนอว่ามีอะไรบ้างที่จะช่วยเพิ่ม VO2 Max นั่นหมายถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจน ทำให้ทนและอึดมากขึ้น และหากซ้อมแบบ HIIT เหมาะสม จะได้ความว่องไวปราดเปรียว

1. กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการดำรงชีวิต ที่มีอิทธิพลมากกับการมีประสิทธิภาพในการใช้ออกซิเจนไปเป็นพลังงานคือ สายพันธุ์ ไก่ที่มาจากสายเลือดดีก็เหมือนพรสวรรค์ ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆได้ดี หรือมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าสายพันธุ์อื่น การเลือกลูกไก่จากพ่อแม่ที่ดีย่อมมีโอกาสได้ไก่ที่ดีในอนาคต ในคนนั้นพบว่าคนอัฟริกันจะมีความสามารถในการใช้ออกซิเจนมากกว่า และกล้ามเนื้อทนทานมากกว่า ทั้งนี้ยังเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการดำรงชีวิต เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อการปรับตัวของยีน การศึกษาของ Carla M. Calò & Giuseppe Vona (2008) ใน Journal of Anthropological Sciences เรื่อง Gene polymorphisms and elite athletic performance พบว่ายีนมีความสัมพันธ์กับความสามารถทางด้านกีฬา บางการศึกษาพบว่าชาวเคนยาได้เปรียบชนอื่น โดยพบว่าค่าของ VO2Max ของยุวชน (10-16 ปี) ชายหญิง มีค่า VO2Max สูงถึง 73.9 และ 61.5 มล./กก/นาที อย่างไรก็ตามมีรายงานของ H B Larsen et al. (2015) ลงในวารสาร Scand J Med Sci Sports เรื่อง The Kenyan Runners พบว่าคนเคนยามีความเหมาะกับการวิ่งระยะกลางถึงไกล และไม่มีความแตกต่างของ VO2Max กับคนเชื้อสายอื่นๆ ทั้งกลุ่มอีลิท และกลุ่มที่ไม่ใช่นักกีฬา แต่กลุ่มอีลิทจะสูงมากๆ และยังพบว่าสัดส่วนของ slow muscle fibers ไม่ต่างกัน ในทางตรงข้ามพบว่าลักษณะการทำงานของระบบทางเดินหายใจหรือปอดของสายอิลิทชาวเคนยามีข้อจำกัด จะพบภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (arterial hypoxia) การไหลเวียนอากาศจำกัด หรือหายใจไม่พอ และมีการใช้พลังงานแบบใช้ออกซิเจนในระดับสูงของกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าตีความหมายในเชิงลบคือการไหลเวียนอากาศต่ำแต่เหตุใดจึงยังสามารถวิ่งได้ดี อาจเป็นเพราะการปรับตัวตามธรรมชาติ ที่ทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ได้ดี เป็นไปได้ว่ามีความสัมพันธ์กับคนที่อาศัยในพื้นที่สูง ที่มีออกซิเจนเบาบาง ร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้ใช้ออกซิเจนที่มีน้อย และยิ่งได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนระดับปกติ ภาพที่เห็นว่าเป็นข้อจำกัดอาจเป็นเพราะปรับสมดุลได้ดีแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าเซลล์สามารถตอบสนองต่อระดับออกซิเจนผ่านทาง Hypoxia Inducible Factor (HIF) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ โดยผ่านยีนร่วมกับการควบคุมด้วยสารเคมีหรือโปรตีนบางชนิด ทำให้เชื่อได้ว่าเชื้อสาย สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการดำรงชีพ มีผลต่อการพัฒนาของร่างกาย

2. การพัฒนาของระบบไหลเวียนเลือด การที่เซลล์เม็ดเลือดมีระดับของฮีโมโกลบิน (hemoglobin) สูง ซึ่งเป็นตัวขนส่งออกซิเจนในเลือดไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย ถ้าใครมีมากตามธรรมชาติย่อมได้เปรียบ  พบว่าคนที่อยู่ในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ ซึ่งระดับออกซิเจนเบาบางลง ทำให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำในเลือด จะกระตุ้นให้มีการสร้างฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น ทำให้ยังเกิดการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ่ายเทคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้อย่างดี ซึ่งสิ่งนี้ยังสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือภาวะใดใดที่ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง และพบว่าธาตุเหล็ก กรดโฟลิกและวิตามินบี12 เป็นองค์ประกอบในการสร้างฮีโมโกลบิน

3. การพัฒนาของกล้ามเนื้อในช่วงเจริญเติบโต จะสามารถเพิ่มปริมาณของเส้นใยกล้ามเนื้อได้มาก ในคนและสัตว์เหมือนกันที่เส้นใยกล้ามเนื้อแต่ละคนมีปริมาณไม่เท่ากัน เกิดจากความสมบูรณ์ของร่างกายในวัยเด็ก และจะหยุดเมื่อพ้นวัยหนึ่ง ในคนจึงถือว่าช่วงหนึ่งขวบสำคัญมาก และจะมีจำนวนคงที่แต่ขยายขนาดได้ เส้นใยกล้ามเนื้อมาก ย่อมมีไมโอโกลบิน (myoglobin) มากเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวรับออกซิเจนไปใช้สร้างพลังงานในเซลล์ สัมพันธ์กับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงไก่ในช่วงไก่เล็กถึงไก่รุ่นจึงสำคัญมาก เพื่อให้จำนวนเส้นใยกล้ามเนื้อมากเข้าไว้ เช่น การเลือกอาหารที่ให้ความสมบูรณ์ทุกส่วน ทั้งระดับโปรตีน ไขมัน แร่ธาตุและวิตามิน ซึ่งการสร้างกล้ามเนื้อมีความจำเป็นต้ิงใช้แหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่ก็ใช่ว่าจะขาดสารอาหารอย่างอื่นได้ จึงไม่ค่อยแนะนำการใช้เวย์โปรตีนในวัยกำลังเจริญเติบโต ควรใช้อาหารที่มีความสมดุลของสารอาหารแต่ยังให้โปรตีนและไขมันสูง

4. ระบบเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากสัมพันธ์กับการฝึกซ้อม ทำให้กล้ามเนื้อนั้นปรับตัวในการพึ่งระบบไหลเวียนโลหิต นอกจากเส้นเลือดเดิมจะแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่พบปริมาณเส้นเลือดฝอยเพิ่มขึ้น ตามรายงานในไก่ต๊อก (Guineyfowl) พบมีเส้นเลือดฝอยเพิ่มสัมพันธ์กับค่า VO2 Max

5. อาหารและสารอาหารหลายชนิดช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต โดยพบว่าสารอาหารหลายชนิดมีส่วนช่วยให้การขนส่งออกซิเจนจากเลือดไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนปลาย โดยการกระตุ้นให้การทำงานของหัวใจดี ลดแรงต้านทานของหลอดเลือดส่วนปลาย เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยการกระตุ้นการหลั่งไนตริกออกไซด์ เช่นเดียวกับที่พบในกระบวนการอักเสบ ในระยะที่มีการขยายตัวของเส้นเลือด มีอิทธิพลมาจากตัวทูเมอร์เนคโคติกแฟกเตอร์ (TNFalpha) แต่เกิดคนละจุดประสงค์ และไม่จำเป็นต้องมีการอักเสบ นวัตกรรมด้านอาหารจึงมีทางเลือกเพิ่ม เพื่อลดแรงต้านทานของหลอดเลือด ให้การนำออกซิเจนไปสู่กล้ามเนื้อได้สะดวก และทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในสัตว์ปีกในกลุ่มนกแข่งและไก่ชนปัจจุบัน (2019) ได้แก่ Racing Bird ซึ่งให้สารอาหารเข้มข้นใช้ก่อนแข่ง บางทีถูกเรียกว่า “โด้ป” ใช้ลดแรงต้านของเส้นเลือดในการสูบฉีดเลือดจึงทำให้ออกซิเจนถูกขนส่งถึงที่ได้ง่าย โดยที่หัวใจทำงานไม่หนัก หรือกินบำรุงต่อเนื่องอย่างบูสเตอร์ที่มักถูกเรียกว่า “นกบิน” สิ่งเหล่านี้จะทำให้การนำออกซิเจนไปใช้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการทดสอบในไก่ชน พบว่าตัวทดสอบมีกำลังมากกว่าตัวที่ไม่ได้ใช้ และมีความทนทานกว่าอย่างชัดเจน และยังสังเกตได้ว่าใบหน้าจะแดงเสมอ พบว่าวิตามินบี 3 มีส่วนช่วยในการไหลเวียนโลหิต และพบว่าผักโจมและผักกาดอุดมไปด้วยวิตามินบี วิตามินอี นอกจากจะช่วยเรื่องระบบไหลเวียนโลหิตยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงโดยการทำงานร่วมกับซิลีเนียม และมีส่วนช่วยในการกำจัดสารพิษในกระบวนการหนึ่งในตับ และพบว่าธาตุเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินก็สำคัญในเรื่องการขนส่งออกซิเจน พบมากในเนื้อแดงและผักสีเขียว โอเมก้า3 ที่ได้จากน้ำมันปลาและไขมันปลา พบมากในปลาแซลมอน แมคเคเรล แองโชวี่ มีส่วนช่วยเรื่องการทำงานของหัวใจ

6. สมุนไพรมีส่วนช่วยบ้างหรือไม่ มีคนสนใจกันมาก และมีผู้เอาไปประกอบสูตรจำนวนมากเพื่อให้ไก่มีระบบไหลเวียนโลหิตที่ดียิ่งขึ้น บางคนให้ชื่อว่าเป็นโด้ปชนิดหนึ่ง มีอะไรบ้างที่ช่วยในการเพิ่มการไหลเวียน ยกตัวอย่าง เช่น พรมมิ (bacopa) พริกไทยดำ บุชเชอร์บรูม (butcher’s broom) พริกคาเยน (cayenne) หญ้าลูกไก่ ขิง บัวบก ซานจา (hawthorn) แป๊ะก๊วย ใบไธม์ (thyme) โสม ขมิ้น ตัวสำคัญที่ใช้กันในอดีตคือเปลือกไม้พันธุ์โยฮิมเบจากอัฟริกาตะวันตก  และหญ้าแพะหงี่ของจีน อย่างไรก็ตามในรายชื่อ ตำรับไทยก็มีให้เลือกไม่น้อย

7. การทำกายภาพบำบัดช่วยในเรื่องประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิตได้ดีเช่นกัน

จะเห็นว่ามีทางเลือกอีกมากสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของร่างกายโดยอาศัยการไหลเวียนโลหิตเพื่อรำออกซิเจนไปให้ถึงที่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้