Theerachai Prommakun
งูคอร์นไม่กินอาหาร (48 views)
20 Apr 2025 18:49
งูคอร์นสเน็ค อายุ 5 ปี ไม่กินอาหารมาร่วม 2 เดือน ปกติให้หนูแช่แข็งสัปดาห์ละครั้ง ผิดปกติมั้ยครับ ปกติเคยไม่กินนานสุดประมาณ 1 เดือน
Theerachai Prommakun
Member
อ.แก้ว ขวัญคำ
26 Apr 2025 21:44 #1
เป็นได้ทั้งปกติและผิดปกติครับ ซึ่งมีข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบได้ การเบื่ออาหารเกิดได้จากธรรมชาติเป็นอันดับแรกในสัตว์เลื้อยคลานซึ่งจะไปมีผลต่อสรีรวิทยา ซึ่งเป็นกลไกของร่างกาย และลำดับต่อมาเกิดจากความเจ็บป่วย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นผลต่อด้านพยาธิวิทยาหรือการเกิดรอยโรคขึ้นในร่างกาย นอกจากนี้ยังเกิดได้จากกลไกทางกายภาพ เช่น การสะสมความร้อนไม่เพียงพอหรือมากเกินไป การย่อยที่ช้าลง ขนาดของเหยื่อ และสุดท้ายเกิดจากปัจจัยด้านจิตวิทยา ความรู้สึกและอารมณ์ ส่วนใหญ่คือการหลบหนี การถูกคุกคาม
ปัจจัยแรกจะเป็นปัจจัยที่พบมากที่สุด เกิดจากมีผลมาจากสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งผู้เลี้ยงต้องคอยประเมินด้วยตนเอง และยากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตรงนี้ เพราะงูอดอาหารได้นาน บางตัวเป็นครึ่งปีถึงหนึ่งปี ประเด็นแรกคืออุณหภูมิที่เหมาะสม เรียก POTZ = Prefered Otimum Temperature Zone เรามักจะพูดเรื่องนี้บ่อยที่สุดในการเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน และหมอเองส่วนเองก็มักจะอ้างคำนี้ คือถ้าอุณหภูมิไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมจะมีผลต่อการดำรงชีพ และลดการกินอาหารได้ทั้งต่ำและสูงกินไป แลพบว่าในอุณหภูมิที่ต่ำหรือสูงเกินไปจะไปทำให้เกิดภาวะจำศีลชั่วคราว หรือ aestination ไม่ใช่จำศีลถาวรแบบ hybernation ตัวนี้อาจเกิดการนอนหรือพักที่นานมากขึ้นในแต่ละวัน โดยเฉพาะที่มักถูกมองข้ามคือร้อนเกินไป จะมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึน เกิดการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ไหลเวียนเลือดมากขึ้น แต่ไม่อยากอาหาร และสัตว์จะเริ่มทรุดโทรมหากไม่แก้ไขภาวะนี้ จะพบอาการเจ็บป่วยขึ้น ขณะที่เย็นเกินไปจะแก้ไขได้ไม่ยาก แค่แสงจากยูวีหรือฮีทเตอร์ก็ช่วยได้แล้ว แต่ก็พบได้ในบางช่วงที่อากศลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
แสงยูวีจึงสำคัญ โดยเฉพาะยูวีเอ ที่ไปช่วยกระตุ้นความอยากอาหารและกิจกรรม การเผาผลาญของร่างกายโดยตรง งูแม้จะสัมผัสแดดน้อยมากแต่ละวันแต่แสงอื่นๆ ก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวการกิน สมัยก่อนหลอดไฟทั่วไปให้แสงยูวีเอได้ ก็ไม่น่ากังวล จึงนิยมใช้หลอด 60-100 วัตต์มาประยุกต์ใช้ อีกประการที่ถูกมองข้ามมากที่สุดคือ ช่วงของแสงต่อวัน บางคนลืมไปว่าแค่เปลี่ยนฤดู พอหน้าหนาวเวลากลางวันจะสั้นลง แม้เพียงนิดเดียวก็มีผลต่องูแล้ว เพราะต่อมไพเนียลซึ่งบางทีเรียกว่าตาที่สามจะถูกกระตุ้นต่อแสง และมีผลต่อกิจกรรมต่างๆ เมื่อช่วงของแสงเปลี่ยนไปแล้วแต่ละชนิด และยังไปมีผลกับการเต้นและการควบคุมการทำงานของหัวใจและการหายใจ ความอยากอาหารก็มีผลจากสิ่งนี้เช่นกันครับ อันนี้สำคัญมากๆ ตองทดสอบเอาและเทียบกับตัวอื่นๆ และของผู้เลี้ยงคนอื่นๆ ในโซนเดียวกันและเลี้ยงเหมือนกัน
ปัจจัยที่มีผลมากกับงู ต่างจากเต่าและกิ้งก่า คือความชื้น ตั้งแต่ระดับ 60-80% ในภาวะปกติ และ 80-100% ในภาวะลอกคราบหรืออากาศแห้งในช่วงอากาศร้อนจัด จนถึงอาจต้องแช่น้ำ แต่ความชื้นมากจะไปมีผลกับค่าออกซิเจนที่ต่ำลง งูจะลดกิจกรรมลงเช่นเดียวกัน จะใช้การระบายอากาศช่วยซึ่งใช้พัดลมตามปกติได้เลยครับ หากแห้งเกินไปก็ลดกิจกรรมต่างๆ เช่นกัน ความไม่พอดีมีผลต่อการกินและการย่อยอาหารทั้งหมด และยังมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลทางด้านสรีรวิทยาอีกเยอะ แต่ขอกล่าวที่เกิดได้บ่อยครับ
เมื่อทำการตรวจสอบแล้วว่าปัจจัยดังกล่าวเราไม่ผิดพลาดเลย หรือกังวลใจ ว่าจะเกิดทางด้านพยาธิวิทยาหรือเกิดจากความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ ก็นำไปตรวจร่างกายได้ ตั้งแต่เปิดช่องปาก ดูสภาพโดยรวม ไปจนถึงทวารรวม ส่วนใหญ่หมอจะทำการเอกซเรย์ครับ เพราะช่วยประเมินเบื้องต้นได้ และยแกจากสภาพความเจ็บป่วยจากไม่เจ็บป่วยได้ อย่างไรก็ตามในสภาวะบางสภาวะจะพบการย่อยได้ช้าลงแม้จะกินเหมือนเดิมและต่อเนื่องมาหลายปี จะพบภาพของแก๊สสะสมในทางดินอาหาร (ileus) มากจากการย่อยช้า มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมซึ่งแต่ละตัวทนได้แตกต่างกัน แต่ต้องแยกจากการอักเสบและบวมของลำไส้ ซึ่งจะมีภาพจากเอกซเรย์ต่างกัน หมอจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจเรื่องนี้ไม่ถูกต้องและมักทำให้เข้าใจผิดว่าป่วยทางเดินอาหาร เมื่อพบแบบนี้ต้องกลับไปประเมินเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงอีกครั้งครับ ในกรณีพบรอยโรคหรือพยาธิสภาพ ก็อาจทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมอื่นๆ ตามสาเหตุที่สงสัยได้อีก และการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุนั้นจะช่วยใหเฟื้นฟู และกลับมากินอาหารได้ อย่างไรก็ตามในงูป่วยจำนวนไม่น้อยที่เคยเกิดภาวะป่วยรุนแรง เช่น การติดเชื้อและอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งไปมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติไป และทำงานได้น้อยลง เคสแบบนี้มักต้องใช้การบังคับกินหรือป้อน ซึ่งบางเคสจำเป็นต้องทำแบบนั้น เช่น งูหลามจะพบบ่อย และก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การย่อยจะช้ากว่าเดิมในแต่ละครั้งที่กินครับ
เช่นเดียวกันในบางเคสที่สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม ที่ทำการเอกซเรย์แล้วพบภาวะปกติของร่างกาย อาจทดสอบดูจากค่าโลหิตวิทยาอื่นๆ ประเมินการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ แต่อาจไม่จำเป็นเพราะภาพเอกซเรย์พอช่วยได้แต่ไม่แม่นทั้งหมด จะทดสอบโดยการป้อนอาหารแทน เพราะในทางเดินอาหารไม่มีอาหารอยู่แล้วและไม่พบแก๊สจากที่กล่าวข้างต้น และประเมินการย่อยอาหารหลังจากนั้นตั้งแต่สองสัปดาห์ขึ้นไปครับ
เวลาถามเรื่องสัตว์เลื้อคลานจากผม อาจได้รับคำตอบไม่ตรงกับที่เคยได้รับจากคนอื่นนะครับ เพราะเรื่องสัตว์เลื้อยคลานต้องหาคนที่เข้าใจจริงๆ หากต้องการายละเอียดอะไรเพิ่มเติม ให้ระบุอาการอื่นๆ โดยละเอียดเพิ่มเติม ในส่วนนี้ผมให้ข้อมูลเป็นภาพรวมจากการบอกเล่าอาการเสียก่อน
อ.แก้ว ขวัญคำ
Guest