ภาวะกลูโคสในกระแสเลือดต่ำในกระต่าย เกิดขึ้นได้หรือไม่ ควรป้อนกลูโคสหรือไม่?

60 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะกลูโคสในกระแสเลือดต่ำในกระต่าย เกิดขึ้นได้หรือไม่ ควรป้อนกลูโคสหรือไม่?


มีคำถามบ่อยครั้งและมักมีการจัดการที่อาจไม่เหมาะสมในทางคลินิกเมื่อพบว่ากลูโคสในกระแสเลือดต่ำ ทำให้หมอหลายคนวิตกกังวลและรีบให้กลูโคสป้อน เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากกลูโคสไม่เพียงพอ แต่เป็นการจัดการที่ผิดพลาดหรือไม่ เราจึงต้องทราบตั้งแต่ค่าเลือดปรกติ ภาวะหรือสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นตามปรกติ จึงจะสามารถประเมินได้ว่าเมื่อไรจึงจะถือว่าภาวะกลูโคสต่ำเป็นภาวะผิดปรกติที่ต้องแก้ไข และควรแก้ไขด้วยวิธีใดที่ไม่ใช่การป้อนกลูโคส สิ่งที่เกิดขึ้นในสุนัขและแมวจึงไม่อาจจะนำมาใช้ในกระต่ายและสัตว์ที่กินพืชทั้งหลายได้เสมอ

ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดจากรายงานต่างๆ มีช่วงที่ค่อนข้างกว้าง พบอยู่ระหว่าง 4.2 to 8.2 mmol/l (Gillett 1994, Campbell 2004, Jenkins 2006) เทื่อเทียบกับสุนัขจะมีช่วงที่แคบกว่า คือ 3.3 mmol/L to 6.2 mmol/L ที่เป็นเช่นนี้เชื่อว่าเป็นลักษณะของสัตว์กินพืชที่มีการสร้าง การเก็บ การสลาย และนำไปใช้น้ำตาล กลับไปกลับมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการได้จากแหล่งพลังงานอื่นๆ จากการหมักย่อยพืช ยกตัวอย่างในวัว 1.89 to 6.05 mmol/L และม้า 4.4–9 mmol/L การพบน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้นหรือต่ำลงในสัตว์กินพืช ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลในภาวะปรกติ เพราะมักเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากสัตว์กินพืชจะสร้างองค์ประกอบหลักคือกรดไขมันอิสระเป็นพลังงานหลัก และมีการใช้พลังงานจากแหล่งนี้เป็นหลัก การพบน้ำตาลในกระแสเลือดมากขึ้นในกรณีที่มีความเครียดและมีการหลั่งคอร์ติซอล สามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างกลูโคสเพิ่มขึ้นได้ และถูกนำไปใช้อย่างรวดเร็วผ่านกระบวนการสลายกลูโคสเป็นไพรูเวตและแลคเตส แม้จะพบมีการสะสมของแลคเตสเพิ่มขึ้นแต่จะเป็นเพียงระยะสั้น และยังพบว่าการได้รับเยื่อใยอาหารจากพืชมีผลไปลดน้ำตาลในกระแสเลือดลงได้ ในการศึกษาของ Harcourt-Brown & Harcourt-Brown (2012) ในกระต่ายจำนวน 907 ตัว ไม่พบมีตัวที่ป่วยจากเบาหวานเลยแม้แต่เพียงตัวเดียว แม้ว่าจะพบภาวะ severe hyperglycemia (> 20 mmol/l) ได้และถือว่าอันตราย และในตัวที่มีค่าสูงพบสัมพันธ์กับภาวะลำไส้อุดกั้น ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการไม่กินอาหารและนำเอาไขมันและไกลโคเจนที่สะสมในตับออกมาใช้ จะพบค่าน้ำตาลที่สูงในระยะแรก และอาจจะลดลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นภาวะต่ำลง กรณีเช่นนี้ให้ระมัดระวังคีโตสิส (ketosis) มากกว่า และข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาของ Harcourt-Brown & Harcourt-Brown (2012) ในภาวะกลูโคสในกระแสเลือดต่ำมักมาจากอาการเบื่ออาหารเช่นกัน

ซึ่งได้บรรยายเรื่องนี้ให้สัตวแพทย์และนักศึกษาฟังอยู่เสมอว่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในกระต่ายมักจะเป็น “anorexia induced hypoglycemia” และควรแก้ไขที่สาเหตุเบื้องต้นเป็นหลัก ไม่ใช่การป้อนน้ำตาล เพียงแต่เฝ้าระวังอาการและแก้ที่สาเหตุ ป้อนอาหารฟื้นฟูที่เหมาะสมสำหรับสัตว์กินพืช โดยผ่านกระบวนการรักษาและแก้ไขด้วยวิธีต่าง ๆ ตามสาเหตุที่พบก็เพียงพอ นอกจากนี้พบว่าการเกิดน้ำตาลต่ำในสัตว์กินพืชจะเกิดได้ยากมาก หรือเพียงร้อยละ 1.76 เท่านั้น และมักเกิดในกรณีไม่กินอาหารหรือขาดการหมักย่อยเป็นหลัก ซึ่งสัมพันธ์กับโรคในระบบทางเดินอาหารที่จะพบเป็นประจำ ได้แก่ ภาวะลำไส้อืด และการอุดกั้นในทางเดินอาหารเช่นกัน ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและเบื่ออาหารเป็นอาการเฉพาะ คิดเป็นร้อยละ 100 (Butsurin, 2014) และเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลูโคสต่ำในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังพบจากการเกิดเนื้องอกเซลล์เบต้าในตับอ่อนได้ (insulinoma) แต่พบน้อยมาก พบเพียง 1 รายใน 16 รายที่พบรายงานภาวะกลูโคสต่ำ (Harcourt-Brown & Harcourt-Brown, 2012) โดยจะมีอาการเฉพาะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อ่อนแรง เดินไม่สัมพันธ์ และชัก (Foxx et al., 2022) และยังพบว่าการเกิดการเปลี่ยนแปลงไขมันจากภาวะไขมันพอกตับสามารถทำให้เกิดปัญหาน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำได้ เมื่อกระต่ายใช้ไกลโคเจนที่สะสมไว้จนหมด ทั้งจากความเครียด และการหลั่งอะดรีนาลีน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ก็มักจะมีผลมาจากอาการเบื่ออาหารและป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินอาหารเป็นปัจจัยโน้มนำ

การแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แม้จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการป้อนกลูโคสในสัตว์ชนิดอื่นๆ และช่วยแก้ไขภาวะฉุกเฉิน แต่ในกระต่ายที่ไม่ควรป้อนกลูโคสโดยการกินนั้น นอกจากพบว่ากระต่ายมีการสร้างแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ใช้กรดไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลัก หรือการนำแลคเตสกลับมาใช้ในกระบวนการ “Cori cycle” ผ่านการเปลี่ยนเป็นไพรูเวตและสร้างกลูโคสขึ้นมาใหม่ (gluconeogenesis) และเพราะสาเหตุมักจะมาจากโรคในระบบทางเดินอาหาร การแก้ไขสาเหตุสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยปรกติการให้อาหารฟื้นฟูผ่านการป้อนในรายที่เริ่มควบคุมอาการความเจ็บปวดได้แล้ว จะสามารถทุเลาอาการได้เช่นกัน และหากกังวลใจควรให้สารอาหารผ่านทางเส้นเลือดแทนได้ ข้อควรระวังในการป้อนน้ำตาลกลูโคส (รวมทั้งผลไม้ น้ำผลไม้ และน้ำผึ้ง) เนื่องจากน้ำตาลจะไปเร่งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียแลคติก (lactic acid bacteria) จะเริ่มเจริญเติบโตมากขึ้นในทางเดินอาหารในกรณีเกิดภาวะลำไส้อืด ซึ่งสัมพันธ์กับอาหารที่ไม่เหมาะสมที่เป็นสาเหตุหลัก และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกรดในทางเดินอาหาร เกิดภาวะลำไส้อักเสบร่วมกับการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ได้เช่นกัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้