เรื่องพื้นๆ ของชูการ์ไกลเดอร์

7803 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่องพื้นๆ ของชูการ์ไกลเดอร์

เรื่องพื้นๆ ของชูการ์ไกลเดอร์

โดย หมอแก้ว (ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล)

การเลี้ยงชูการ์ไกลเดอร์มีหลากหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป การจะเลี้ยงแบบไหน ใครจะเลือกวิธีใด สิ่งที่ต้องนำมาเป็นหลักการในการจัดการ ก็คือ ข้อมูลชีววิทยา หรือเรื่องพื้นๆของตัวสัตว์ 

ชูการ์ไกลเดอร์เป็น มาร์ซูเปี้ยน หรือสัตว์ที่มีกระเป่าหน้าท้องสำหรับเลี้ยงลูก ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับหมีโคอะล่า จิงโจ้ มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียและนิวกินี เป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นฝูง ประมาณ 6-10ตัว

และแต่ละฝูงจะมีอาณาเขตของตัวเองชัดเจน โดยมีตัวผู้เป็นจ่าฝูงและทำหน้าที่กำหนดอาณาจักรของตน โดยการปล่อยกลิ่นจำเพาะ ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย คือ 100-160 กรัม และ 80-130 กรัม ตามลำดับ ความยาวลำตัวระหว่าง 160-210 มิลลิเมตร และความยาวถึงหางระหว่าง 165-210 มิลลิเมตร

ชูการ์ไกลเดอร์จะมีพังผืดขยายออกมาจากด้านข้างลำตัว ติดต่อระหว่างขาหน้าและขาหลัง ช่วยในการบินหรือร่อน

เรียกว่า gliding membrane หรือ patagium มีขนาดของกระดูกเล็กและเบา จึงทำให้ร่อนได้ง่าย

ชูการ์ไกลเดอร์ สามารถเป็นสัดหรือพร้อมผสมพันธุ์ได้หลายๆรอบในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ หรือระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงพฤษจิกายน (ในออสเตรเลีย) ส่วนในเมืองไทยจะพบมากในช่วงฤดูร้อนเข้าฝน หรือช่วงที่มีแมลงมาก เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จะมีช่วงของการเป็นสัดยาว 29 วัน ตั้งท้องเพียง 15-17 วัน บางรายเพียง 13 วันเท่านั้น แล้วลูกของพวกเขาก็จะพยายามคลานออกมาสู่กระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งที่นั่นจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีหัวนมทั้งหมด 4 เต้า และอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องนาน 70-74 วัน จึงจะออกมาอยู่ข้างนอก และเริ่มหย่านมในช่วงอายุ 110-120 วัน แต่ก็ยังอยู่กับแม่จนอายุ 8-12 เดือนในตัวเมีย และ 12-15 เดือนในตัวผู้ 

สิ่งที่พิเศษแตกต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น คือ อวัยวะเพศเมียจะถูกแบ่งออกเป็นคู่ มีช่องคลอดและมดลูกเป็นสองห้อง ขณะที่อวัยวะเพศผู้ก็แบ่งเป็นสองข้างเช่นกัน ซึ่งจะไม่ขับปัสสาวะผ่านส่วนปลายของลึงค์แต่จะขับออกทางส่วนบนของฐานลึงค์ทั้งสอง

ชูการ์ไกลเดอร์เป็นพวก โอมนิวอร์หรือกินได้ทั้งพืชและสัตว์ และหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ อาหารตามธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากสำหรับผู้เลี้ยงในเมืองไทย หากจะต้องการจะเลี้ยงให้เหมือนตามธรรมชาติ ที่บ้านเกิดของพวกเขา ชูการ์ไกลเดอร์กินเนื้อยางหรือน้ำหวานของต้นอคาเซีย และต้นยูคาลิปตัส ซึ่งมีคาร์โบไฮเดตรและกากอาหารสูง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมส่วนซีคัมหรือใส้ติ่งของชูการ์ไกลเดอรืจึงขยายใหญ่ และที่นั่นมีการหมักอาหารโดยจุลชีพเพื่อสร้างสุดยอดอาหาร และมีฟันตัดด้านล่างที่แหลมคมและแข็งแรงมาก เพราะใช้กัดเปลือกไม้ให้เป็นรอยแยกนั่นเอง

นอกจากนี้ยังกินพวกน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ และน้ำผึ้ง ในฤดูที่อุดมสมบูรณ์จะเลือกกินแมลงให้มาก จึงจะได้โปรตีนและไขมันสูง สะสมพลังงานไว้ใช้ในฤดูที่ขาดแคลน และในป่านั้นพวกเขาต้องการพลังงานสูงมาก คือ 182-229 กิโลจูลต่อวัน หรือคิดเป็นอาหารประมาณ 17% ของน้ำหนักตัวต่อวัน เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่หยุดนิ่ง

อย่างไรก็ตาม ชูการ์ไกลเดอร์ที่ถูกนำมาเลี้ยง ก็มักจะต้องการน้อยกว่านั้น เนื่องจากกิจกรรมทรหดอย่างในธรรมชาติไม่มี หากกินมากก็จะเกิดโรคอ้วนได้ง่าย อย่างไรก็ตามไม่พบรายงานการกินเมล็ดธัญพืช นอกไปจากรายงานการจัดการด้านการเลี้ยงของมนุษย์เอง แต่เราสามารถจัดหาให้ได้ ในระดับที่ไม่มากเกินไปได้ ส่วนใหญ่ต้องอยู่ในรูปที่เป็นออแกนิคแล้ว ไม่ใช่เป็นเมล็ด

เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่หยุดนิ่งนี่เอง ทำให้ต้องการพลังงานมาก และยังต้องการพื้นที่อาศัยในการทำกิจกรรมโลดโผนต่างๆมาก

จากข้อมูลพื้นฐานดังกล่าว เราจะมาลองจินตนาการ และจัดการการเลี้ยงดูแก่ชูการ์ไกลเดอร์

 

ชูการ์ไกลเดอร์ที่ได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง จะทำให้พวกมันเรียนรู้จักเรา และจะกลายเป็นสัตว์ที่เชื่องชาญฉลาดอย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดกรงที่เลี้ยงควรใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ได้ออกกำลังและสามารถบินร่อนได้ และมีชีวิตใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ขนาดเล็กที่สุดที่ควรจะเป็นคือ 91*36*91 เซนติเมตร เป็นกรงตาข่ายที่มีการระบายอากาศได้ดี มีอุณหภูมิที่อาศัย คือระหว่าง 18-32 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 24-27 องศาเซลเซียส ในกรงต้องมีที่กิน มีถาดอาหารและถาดน้ำ ที่หลบอาศัยที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย เช่น กล่องไม้ ซึ่งต้องแขวนไว้ในที่สูง และควรอยู่ในที่ประจำ ทำความสะอาดและเปลี่ยนที่รองนอนทุก 1-2 สัปดาห์ เลือกใช้กล่องรังนก บางท่านก็ใช้กล่องนอนสำหรับลูกสุนัขหรือแมว ซึ่งมักจะกลายเป็นแฟชั่นในระยะหลัง

อย่างไรก็ตาม ขนาดของกล่องควรเหมาะกับจำนวนของชูการ์ที่อาจจะอาศัยอยู่ร่วมกันในกล่องเดียว หรือจะตัวเดียวลำพังก็ควรจะมีขนาดอย่างน้อย 13*13 เซนติเมตร มีช่องเปิดด้านหน้า พื้นกรงทำความสะอาดได้ง่าย และสิ่งรองนอนที่นิยม เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษชำระแบบหนา ใบไม้หรือหญ้าแห้ง ขี้เลื้อย (บางท่านก็กังวลว่าจะอุดตันทางเดินอาหารได้) กากมะพร้าว ส่วนใหญ่นิยมผ้า มีไม้คอนสำหรับปีนป่าย หรือกิ่งไม้แตกสาขาก็จะเหมาะในการออกกำลัง ช่วยให้กรงมีชีวิตชีวา และเป็นประโยชน์ที่สัตว์จะได้แทะเล่น ช่วยในการสึกของฟันได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังอาจจัดหาของเล่น ซึ่งบรรดาของเล่นนกก็จะเหมาะนำมาใช้กับชูการ์ไกลเดอร์ เป็นการทำให้สัตว์ไม่เบื่อ

อาหารที่เหมาะสม มีผู้รายงานเอาไว้ และมีความหลากหลายมาก แต่อาหารนั้นควรประกอบไปด้วยแหล่งของโปรตีนสูง ซึ่งเชื่อว่าแมลงเป็นแหล่งอาหารหลักตามธรรมชาติ

ผู้เลี้ยงส่วนหนึ่งจึงนิยมให้แมลงเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้แหล่งโปรตีนที่สำคัญยังได้แก่ ไข่ ลูกหนูแรกเกิด เนื้อสัตว์ อาหารแมวคุณภาพสูง

ซึ่งหลายๆ อย่างไม่นิยมให้ ยกเว้นไข่แดงที่ใช้กันสม่ำเสมอในสวนสัตว์ และเสริมด้วยแหล่งอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง เช่น เนกตาร์ น้ำผึ้ง ยางไม้ของยูคาลิปตัสหรืออะคาเซีย

ในต่างประเทศนิยมใช้อาหารของชูการ์ไกลเดอร์ และสามารถใช้อาหารนกกินแมลงเข้ามาทดแทนในอาหารได้ ประมาณ 24%

ในธรรมชาติชูการ์ไกลเดอร์จะไม่กินเมล็ดธัญพืช แต่ประยุกต์ใช้ในรูปที่เป็นออแกนิคได้ ซีลีแลค หรือนีโอเน็ต ก็ถือว่าเป็นแหล่งธัญพืชที่แปรรูปแล้ว

และควรจำกัดผักและผลไม้ ซึ่งพบการกินได้น้อยมากในธรรมชาติ ในไทยมีแหล่งอาหารเหล่านี้มาก ถือว่าเป็นความโชคดีสำหรับชูการ์ไกลเดอร์ เช่น น้ำหวานจากผลไม้ ผลไม้บางชนิดให้น้ำตาลฟรุกโตสสูงมาก เป็นแหล่งพลังงานที่ดี ผู้เลี้ยงบางคนก็ได้ทดลอง และในการเลี้ยงพบว่าพวกเขาสามารถกินและปรับตัวได้ดี และผักสีเขียวก็เป็นแหล่งของไวตามินและกากอาหารที่ดี

อย่างไรก็ตาม อาหารที่ไม่มีการกินตามธรรมชาติ ควรถูกจำกัดให้น้อยกว่า 10% 

เพราะพบว่าการให้ผลไม้เป็นหลัก ซึ่งจะให้โปรตีนและแคลเซียมต่ำ ทำให้เกิดโรคกระดูกเสื่อม และโรคฟัน แม้ว่าอาหารจะมีความหลากหลายและมีความเชื่อแตกต่าง ทั้งถูกและผิด แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด การเลือกเอาอาหารของตัวพอสซัม “Leadbeater’s possum” ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชูการ์ไกลเดอร์มาก เรียกว่า “Leadbeater’s mixture” มาเป็นอาหารสูตรผสมสำหรับชูการ์ไกลเดอร์ โดยเอาไปผสมกับอาหารสำหรับพวกกินแมลงหรือเนื้อ เช่น อาหารนกคุณภาพสูง ซึ่งควรจะให้โปรตีนและไขมันสูง นิยมผสมกับอย่างละครึ่ง และสามารถเสริมด้วยของกินเล่นต่างๆ เช่น เนื้อตาก แมลง ผลไม้อบแห้ง และรังผึ้ง เป็นต้น

แต่ของกินเล่นควรน้อยกว่า 5%

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้