คำถามจากสนามไก่ชน ทำไมไก่ถึงขาอ่อน 

18935 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คำถามจากสนามไก่ชน ทำไมไก่ถึงขาอ่อน 

คำถามจากสนามไก่ชน

มักมีคำถามจากเจ้าของไก่ชนว่า ทำไมไก่ถึงขาอ่อน ผมมาสรุปย่อ ๆ เอาใจความ

ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)

 

ในฐานะที่ผมไม่ได้ไปตรวจเองและตอบทางไกล จึงสามารถแยกแยะให้ทุกคนได้วิเคราะห์ปัญหาพื้นฐานของไก่ชน ดังนี้

  แยกเป็นกลุ่มใหญ่ก่อน ได้แก่

  • เกิดจากความเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ
  • และการเจ็บป่วยที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ 

 จะตอบให้ตรงความต้องการของวงการเท่านั้น เพราะเรื่องนี้กว้างมาก เอาแต่เรื่องที่น่าจะเกี่ยวกับไก่ชนบ้านเราตอนนี้มากที่สุด

การติดเชื้อที่มักทำให้เกิดปัญหาทั้งระบบหรือร่างกายทั้งหมด แต่เจ้าของมักพบปรากฏเป็นปัญหากับข้อขาบวม ได้แก่ พวกเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus spp. และ Streptococcus spp.  โดยจะพบข้อขาบวม ไปจนถึงเกิดหนอง เชื้อเหล่านี้มักไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาแค่ที่ข้อ กลับพบหนองที่อวัยวะอื่น ๆ ได้อีก ทั้งหัวใจ ปอด ม้าม และตับ เป็นต้น การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากข้อบวมและขาอ่อนในกรณีนี้ จึงต้องได้รับการแก้ไขเสมือนผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง

 

ในกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อมีมากกว่า และพบข้อขาอ่อนได้จากหลายสาเหตุ แยกได้เป็น

กลุ่มที่เกิดจากการขาดแร่ธาตุและวิตามิน อันนี้ถ้ามองข้ามก็ถือว่าน่าเสียดาย บางคนอาจพูดว่ามันคือแร่ธาตุและวิตามินทุก ๆ ตัวนั่นแหละ ก็ไม่ผิด แต่จะเอาเฉพาะตัวที่สำคัญๆมาทำให้เข้าใจกัน

ตัวที่เกี่ยวกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อ ถ้าขาดแล้วจะทำให้ขาอ่อนไม่มีแรงได้ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โปแตสเซียม หรือเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อมาก เช่นเมื่อขาดแมกนีเซียม การขาดสังกะสีหรือซิงค์ทำให้เกิดข้อบวมและบิดงอเสียรูปได้เช่นกัน และตัวที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือซิลีเนียม ปกติตัวนี้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อทนต่อการถูกทำลาย ถ้าขาดก็จะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อแตกง่าย การทำงานก็เสียไป ตัวที่ทำให้ขาถึงขนาดบิดเสียรูป เช่น แมงกานีส โคลีน วิตามินบางตัว เช่น ไนอะซีน ไบโอติน เป็นต้น

ได้รับพลังงานไม่เพียงพอ และพวกที่เกี่ยวกับพลังงาน ปกติพลังงานจะได้มากจากแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต และไขมัน ส่วนโปรตีนเน้นไปในเรื่องการซ่อมแซมร่างกาย ส่วนใหญ่ไก่ชนจะไม่ขาด ส่วนใหญ่กินดี แต่เกินบางตัวขาดบางตัวไม่พอดีเพราะการกินดีแต่ไม่พอดิบพอดี พบว่าตัวสำคัญที่ช่วยให้กล้ามเนื้อได้พลังงานมากขึ้นมีหลายตัว เช่น วิตามินบีหนึ่ง จะช่วยดึงไพรูเว็ตเข้าสู่ไมโตคอนเดรียสร้างเป็นพลังงานมหาศาล ในทางตรงกันข้ามหากขาดตัวนี้ไป ไพรูเวตอาจเปลี่ยนไปเป็นกรดแลคติกที่ทำให้เมื่อยล้า และได้พลังงานต่ำ และเสี่ยงที่ทำให้เส้นประสาทอักเสบ การขาดวิตามินบีสองทำให้นิ้วหงิกงอ เป็นต้น  และการใช้พลังงานยังเกี่ยวกับวิตามินอี และกลูธาไธโอน จึงสัมพันธ์กับวิตามินซีเพราะพึ่งพาอาศัยกัน จะได้พลังงานจากกลูโคสและไขมันเพิ่มขึ้นได้อีก นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าไก่ชนของเรามีโอกาสขาดอยู่หรือไม่

พวกที่ใช้พลังงานผิดรูปแบบ เช่น การที่ไก่ไม่มีเชิง หรือไม่รู้จักดูเชิง ไม่ใช่พวกจอมล่อทั้งหลาย หรือเป็นพวกที่เห็นว่าได้เปรียบคู่ต่อสู้โดยสัญชาตญาณ อาจจะโหมกำลังเข้าตี อีกพวกคือใช้สารกระตุ้นหรือโด้ปให้คึกจนคุมกำลังและสติตนเองไม่ได้ พวกนี้จะมีการใช้พลังงานผิดรูปแบบ คือใช้กล้ามเนื้อแบบไร้ออกซิเจนเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดการสะสมกรดแลคติกมากขึ้น จึงเกิดความเมื่อยล้า ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความอดทนต่อกรดแลคติคของไก่แต่ละตัว ตัวที่ซ้อมดีก็จะทนได้ดีกว่า ตัวที่ทนไม่ได้ก็จะเกิดตะคริวหรือเมื่อยล้า อ้าปากหายใจ บางตัวย้อนกลับไปทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้หัวใจหยุดเต้น ไตและตับถูกทำลาย ซึ่งมีผลทำให้ตายหลังจากตีได้เมื่อผ่านไป 2-3 วัน บางตัวที่รอดไปได้ จะเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนล้าแบบเรื้อรัง เพราะกล้ามเนื้อต้องการฟื้นฟู ถ้าเป็นแบบนี้มักพบว่าไตมักจะเสื่อมไปด้วยอีกอวัยวะหนึ่ง

อีกพวกหนึ่งคือการบาดเจ็บหลังซ้อมและชน พวกนี้จะมีการหลั่งกรดแลคติคค่อนข้างมาก เกิดการสะสม และกล้ามเนื้อถูกทำลายและอักเสบ มีการหลั่งสารเรียกว่าไมโอโกลบินออกมามาก พวกนี้ทำให้ไตวายและตายได้เช่นกัน เมื่อฟื้นตัวจะเกิดอาการอ่อนแรงต่อมาอีกระยะเวลานาน

นอกจากนี้ยังเกิดจากเอ็นและเส้นลิกกาเม้นต์อักเสบ เคลื่อน ก็พบได้ แต่ข้อจะบวมโดยไม่พบอาการอื่น ๆ ร่วม


สนใจอาหารบำรุงสำหรับไก่ชน คลิ๊ก..

https://www.facebook.com/Cawphayu/


เอาพอหอมปากหอมคอกันเท่านี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวมาเล่ากันใหม่ เมื่อมีคำถามจากสนามไก่ชน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้