การเลี้ยงลูกกระต่ายอายุก่อนหย่านม (น้อยกว่า 45 วัน)

9324 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเลี้ยงลูกกระต่ายอายุก่อนหย่านม (น้อยกว่า 45 วัน)

การเลี้ยงลูกกระต่ายอายุก่อนหย่านม (น้อยกว่า 45 วัน)

โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (อาจารย์แก้ว)


ลิขสิทธิ์ของวารสารคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ 
โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ วันที่ 23 มกราคม 2560

วันนี้มีโอกาสเดินดูงานเกษตรประจำปี สิ่งที่ไม่ผิดคาดเลยคือการพบลูกกระต่ายตัวเล็กๆ ถูกนำมาขาย ปกติเราจะได้ยินแต่คำว่าห้ามเลี้ยงลูกกระต่ายก่อนหย่านม แต่นี่คงเลี่ยงกันไม่ได้แล้ว จึงต้องมาคุยกันว่า ถ้าเรารับมาได้จะเลี้ยงอย่างไรให้รอด

                    จากการวิจัยพบว่าลูกกระต่ายอายุน้อยเหล่านี้จะมีอัตราการตายสูงกว่าร้อยละ 70 สรุปคือซื้อวันนี้ อีกสามสี่วันก็ตายกันจำนวนมากมหาศาล จนมีสถิติที่เราพบกระต่ายเข้าทำการรักษาในเดือนกุมภาพันธ์สูงที่สุดในรอบปี และหายไปเกือบหมดในเดือนถัดมา แม้ว่าจะเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วแต่ก็ยังตายอยู่ เพราะลูกกระต่ายนั้นเปราะบางมาก อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงให้รอดนั้นยังมีวิธี

 

                    มาทราบกันก่อนว่าอะไรบ้างที่เป็นปัญหาแบบคร่าวๆ

                     ประเด็นแรก นมของแม่กระต่ายมีคุณสมบัติมีระดับของกรดไขมันจำเป็นสูง เรียกว่า “milk oil” มิลค์ออยด์นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่ดี ยังเป็นตัวช่วยต้านเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี หากขาดตัวนี้ไปหรือหย่านมไว ลูกกระต่ายย่อมเสี่ยงต่อการถูกคุกคามด้วยเชื้อโรค

                     ประเด็นที่สอง น้ำนมมีความเป็นด่าง และเชื้อแบคทีเรียก่อโรคก็ชอบอาศัยได้ดีในทางเดินอาหารที่เป็นด่าง แต่ตายในทางเดินอาหารที่เป็นกรด เมื่อน้ำนมเป็นด่างจึงเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อเป็นอย่างดี แต่น้ำนมแม่กระต่ายมีสารต้านเชื้ออยู่ จึงเป็นตัวคอยช่วยลูกกระต่ายให้อยู่รอดปลอดภัย

                      ประเด็นที่สาม การได้กินมูลอ่อน หรือซีโคโทรป ที่มีลักษณะคล้ายพวงองุ่นเพราะมูลอ่อนจะเป็นก้อนเล็กๆขนาดเท่าๆกันติดกันอยู่เป็นก้อน มูลอ่อนนี้จะได้รับจากแม่กระต่ายในขณะที่ลูกกระต่ายเริ่มหัดกินอาหาร ซึ่งก็เริ่มที่อายุ 3 สัปดาห์ เป็นระยะเดียวกันกับที่ลูกกระต่ายถูกนำออกขายเพราะเห็นว่าเริ่มกินได้แล้ว ในมูลอ่อนนั้นอุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันสูงมากพอที่จะเป็นพลังงานที่ดี และสามารถนำไปย่อยได้ที่กระเพาะอาหาร และยังเป็นแร่ของวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นหลายชนิด จึงเป็นอาหารหลักของลูกกระต่ายในวัยนี้ แต่หากทำการหย่านมก่อน อาหารที่ลูกกระต่ายจะได้รับที่นิยมกันคืออาหารเม็ด ซึ่งไม่ใช่การให้อาหารที่เหมาะสม เพราะกลับมีแป้งมากเกินไป และพวกนี้จะไปหมักที่กระเพาะหมัก อาหารเหล่านี้จะย่อยไม่ได้ ทำให้เกิดอาการท้องอืดแบบเฉพาะที่ (ตรงนั้นก่อน) เกิดการอักเสบตามมา ลูกกระต่ายจึงตาย


                       นอกจากนี้มูลอ่อนนี้ยังเป็นแหล่งของจุลชีพ หรือเชื้อที่เป็นพวกก่อการดี จะคอยไปคลุมผนังลำไส้ กินหรือทำลายพวกเชื้อโรคต่างๆโดยตรง รวมทั้งส่งสัญญาณไปหาเซลล์ของผนังลำไส้ให้ส่งสารออกมาทำลายเชื้อโรค และที่สำคัญมีจำนวนหลายชนิดที่ช่วยในการหมักย่อยอาหารในกระเพาะหมัก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกินพืชผัก หญ้า หรืออัลฟัลฟ่าอย่างแท้จริง หากให้กินเข้าไปแต่ในทางเดินอาหารไม่มีจุลชีพพวกนี้อยู่หรือมีน้อย ก็ไม่สามารถทำการหมักย่อยได้ ก็ไม่ต่างกับการกินของไม่เป็นประโยชน์ เกิดลำไส้อืดเฉพาะที่และอักเสบตามมา รวมทั้งได้รับสารพิษจากเชื้อโรค ทั้งเจ็บปวดช่องท้อง และได้รับสารพิษ จึงทำให้ลูกกระต่ายไม่รอดชีวิต

                        ประเด็นที่สี่ ลูกกระต่ายมาจากแหล่งที่มีการติดเชื้อ ที่พบอยู่เสมอคือเชื้อบิด ซึ่งเป็นกลุ่มโปรโตซัว พวกนี้คอยทำลายทางเดินอาหาร และจะรุนแรงและทำให้ถึงตายได้ในลูกกระต่าย ถ้าไม่ตายก็แคระแกร็น
ประเด็นที่ห้า ลูกกระต่ายที่หย่านมเร็ว มักจะได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม (กากอาหารต่ำ มีแป้งมาก และไม่มีจุลชีพเสริม) หรือนมทดแทนต่างๆ (เป็นด่างและไขมันในน้ำนมมีปริมาณต่ำ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากใช้แบบไม่เข้าใจ จะทำให้ลูกกระต่ายเกิดลำไส้อักเสบและตายได้


                      แล้วจะทำอย่างไร เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น แบบว่าตายแน่ๆ แต่อยากจะรอดล่ะ....

    1. ลูกกระต่ายควรได้รับการตรวจสุขภาพเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การตรวจมูลเพื่อหาเชื้อโรค เช่น บิด หรือดูปัจจัยเสี่ยงต่อการตายจากโรคระบบทางเดินอาหาร หากพบเชื้อให้เริ่มทำการกำจัดเชื้อนั้นๆเลย

    2. ทำการเสริมจุลชีพที่สำคัญ ในการช่วยป้องกันเชื้อก่อโรค และช่วยให้ลูกกระต่ายเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบการย่อยอาหารได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการกินอาหาร เสมือนได้กรับจุลชีพจากมูลอ่อนของแม่ แนะนำ BUNNY ENZYME ป้อนวันละหัวไม้ขีดติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วป้อนวันเว้นวัน

    3. ทำการป้อนน้ำนมทดแทนที่มีระดับไขมันสูง เดิมทีเราใช้พวก Esbilac หรือ KMR ซึ่งเป็นน้ำนมทดแทนที่ดีมากในสุนัขและแมว ตามลำดับ แต่ในกระต่ายนั้นถือว่าระดับไขมันยังไม่เพียงพอ และยังมีความเป็นด่าง จึงทำให้เชื้อก่อโรคเจริญเติบโตได้ดี และได้รับสัดส่วนของพลังงานไม่เหมาะสม จึงมักพบการตายของลูกกระต่ายได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าของและหมอส่วนใหญ่มักแนะนำให้เริ่มกินคริติคอลแคร์หรือแรบบิทแคร์เลย หากกระบวนการหมักยังไม่ดีพอก็ยังคงมีอัตรารอดต่ำอยู่ดี การใช้อาหารทดแทนจากพวกพืชเหล่านี้เลยก็ยังมีความเสี่ยง แต่ละอย่างจึงควรเสริมทีละน้อย อาหารที่เป็นปัจจัยลดการตายจึงเป็นน้ำนมทดแทนที่มีระดับไขมันสูง ได้แก่ Zoologic Matrix ซึ่งเป็นของบริษัทเดียวกันกับนมอีกสองชนิด โชคดีที่มีแล้วในประเทศไทย แต่ก็ควรเสริมจุลชีพในข้อ 2 ร่วมด้วยอยู่ดี

    4. การเริ่มต้นกินพืช มักเริ่มด้วยการให้กินอัลฟัลฟ่า ทำไมต้องเป็นอัลฟัลฟ่า หลายคนคงตอบแบบที่เข้าใจง่ายๆคือ ลูกกระต่ายต้องกินอัลฟัลฟ่า เพราะให้แคลเซียม แต่ในกรณีนี้ไม่เพียงแค่เรื่องการอุดมด้วยแคลเซียม แต่อัลฟัลฟ่าเป็นพืชที่ช่วยในการบัฟเฟอร์ระดับกรดด่างในทางเดินอาหารหรือกระเพาะหมักให้อยู่ในระดับปกติจึงลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลง และช่วยให้จุลชีพที่เราให้เข้าไปมีชีวิตรอดและต่อต้านเชื้อได้ดี บางคนอาจเสริมด้วยคริติคอลแคร์หรือแรบบิทแคร์ก็สามารถทำได้ เพราะช่วยส่งเสริมสารอาหารอื่นๆ และการทำให้มีขนาดของอาหารป่นนั้น ช่วยให้การหมักอาหารดีขึ้น แต่ควรเริ่มที่ปริมาณน้อยๆ ข้อดีของอาหารทั้งสองนั้นยังมีอีกคือมีจุลชีพผสมมาให้แล้ว แต่ก็ยังแนะนำให้ใช้จุลชีพจาก BUNNY ENZYME อยู่ดี เพราะมีจำนวนมาก เมื่ออายุเริ่มที่ 1 เดือนจะเริ่มกินอาหารคงที่ ถือว่าผ่านขีดอันตรายในหนึ่งสัปดาห์แล้ว หากจะเริ่มให้อาหารเม็ดก็สามารถให้ได้ (หลายคนให้ก่อนแล้ว) โดยเลือกที่มีระดับของกากอาหารสูงเกินกว่าร้อยละ 20 ให้ทีละน้อยๆ และคอยสังเกตอาการผิดปกติ เช่น การไม่ขับถ่าย ขับถ่ายเม็ดไม่เท่ากันและเล็ก ถ่ายเป็นโคลน ท้องกาง ไม่กินอาหาร เป็นต้น

    5. การให้อาหารเม็ด แม้ว่าลุกกระต่ายจะเริ่มกินอาหารได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ แต่เป็นการเริ่มต้นการทำงานของการทำงานในระบบ ยังไม่แข็งแรงพอที่จะนำอาหารไปหมักและใช้อย่างสมบูรณ์ ระยะนี้จึงเหมือนหัดกินหรือกินในปริมาณที่น้อยมาก กินมากก็หมักหรือย่อยได้ไม่ดีพอก็เสี่ยงต่อความเจ็บป่วย การกินอาหารเม็ดจึงต้องเลือกที่มีระดับกากอาหารสูงกว่าร้อยละ 20 และทำมาจากอัลฟัลฟ่าเป็นหลัก ถ้าให้ดีอาจต้องผสมจุลชีพแต่เดิมมาเลย กินจากปริมาณน้อยๆ เช่น ช้อนชาไปถึงครึ่งช้อนโต๊ะ เมื่อไม่พบความผิดปกติ จึงเพิ่มขึ้นจนถึง 4 ช้อนโต๊ะ และแบ่งเป็นหลายๆมื้อต่อวัน ถ้าไม่พบความผิดปกติในสัปดาห์แรกที่เริ่มหัดกินก็ถือว่าดีมากแล้ว

   6. ไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจระดับของจุลชีพที่เป็นประโยชน์จากมูล เพราะกระต่ายที่ปลอดภัยจริงๆจะมีระดับของจุลชีพในทางเดินอาหารสูง การไปตรวจซ้ำจะช่วยยืนยันว่าลูกกระต่ายปลอดภัยแล้ว

                            ลองพิจารณาบทความนี้ และปฏิบัติกันดู บทความต่อไปจะกล่าวถึงการจัดการของคุณหมอ จะทำอย่างไรถ้าลูกกระต่ายอายุน้อยๆเหล่านี้ป่วยเสียแล้ว!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้