Psittacine beak and feather disease (PBFD) โรคจงอยปากและขนจากเชื้อไวรัสในนกแก้ว เป็นอย่างไรกันแน่?

28642 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Psittacine beak and feather disease (PBFD) โรคจงอยปากและขนจากเชื้อไวรัสในนกแก้ว เป็นอย่างไรกันแน่?

Psittacine beak and feather disease (PBFD)

โรคจงอยปากและขนจากเชื้อไวรัสในนกแก้ว เป็นอย่างไรกันแน่?

โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)

ลิขสิทธิ์คลินิกออนไลน์สำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ

www.epofclinic.com

เกิดจากเชื้อไวรัส Circovirus เป็น single DNA พบว่ามีหลายชนิด ที่ก่อโรครุนแรงคือ PBFD-1 ทำให้เกิดโรคในกลุ่มนกแก้วเป็นหลัก  พบรายงานเริ่มแรกในนกกระตั้ว จึงพบว่าโดยเฉพาะในแถบ South Pacific จะพบมากกว่าที่อื่น และกระจายไปในแถบเอเชีย ขณะที่นกท้องถิ่นของอเมริกาพบการติดเชื้อได้น้อยกว่าบางคนจึงมักมีคำถามว่ามีแต่นกกระตั้วเท่านั้นเหรอที่เกิดโรคนี้ได้ เพราะมีอาการชัดเจน แท้จริงแล้วนกที่ไวมีมาก เช่น กาลาห์ กระตั้วมอลัคคัลและหงอนเหลืองหรือซัลเฟอร์ รวมไปถึงนกอัฟริกัน เช่น อัฟริกันเกรย์ และมีความเสี่ยงในนกแก้วมากกว่า 30 ชนิด และพบการติดเชื้อในนกนอกกลุ่มนกแก้ว เช่น นกพิราบขณะที่พบเชื้อในกลุ่มนกแก้วจากแถบอเมริกาเพิ่มขึ้น


อาการที่ปรากฏมีความหลากหลาย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจว่าโรคนี้มีรูปแบบเดียว คือต้องมีขนผิดปกติ และอาจพบปากและเล็บผิดปกติ บ้างก็เป็นเรื้อรัง บ้างก็ตายไวโดยแสดงอาการเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่เคยทราบเลยว่าหลายตัวที่ตายตั้งแต่อายุยังน้อยนั้นมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้


การแบ่งกลุ่มอาการนกป่วยเป็น 4 รูปแบบ

1.     แบบเฉียบพลันมาก (peracute form) จะพบในนกลูกป้อน ส่วนใหญ่เป็นกระตั้วและอัฟริกันเกรย์อาการที่พบได้แก่ กระเพาะพักไม่เคลื่อน ปอดอักเสบ ถ่ายเหลว น้ำหนักลด และตายอย่างรวดเร็วโดยพบอาการเกี่ยวกับขนน้อยหรือไม่พบ ในกลุ่มนี้จึงมักถูกมองข้ามโรคนี้

2.     แบบอาการกับเลือดเฉียบพลัน (acute hematologic form) จะพบในนกแก้วแถบอัฟริกา จึงพบในอัฟริกันเกรย์เป็นส่วนใหญ่ อาการจะพบกับเกี่ยวกับเลือดเป็นหลักและไม่พบอาการเกี่ยวกับขน จะพบในช่วงใกล้หรือหลังลูกป้อน ด้วยอาการอ่อนแรงและซึม เกิดจากภาวะเม็ดเลือดต่ำทุกชนิด(pancytopenia) จึงพบเม็ดเลือดขาวต่ำมากจนอาจไม่พบ (ค่าปกติ 5-11 x10*3/microlit) และเม็ดเลือดแดงต่ำ อาจพบฮีมาโตคริตเหลือเพียง 4% (ค่าปกติ 40-48%) นกจะมีอัตราการตายสูงถึง100%

3.     แบบอาการกับผิวหนังเฉียบพลัน (acute dermatologic form) มักจะพบช่วงอายุ 30 วัน ที่จะมีการงอกของขนพวกก้านแข็งชนิด pennaceous แทนขนอุยหรือ plumalaceous โดยจะพบการเจริญของขนผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกสร้างกันเลย ได้แก่ ขนไม่สมบูรณ์แล้วหลุด หักแตก คดงอ จากการเจริญผิดรูปพบเนื้อตายของขนและจุดเลือดออกบริเวณรากขน แม้ว่ารูปแบบนี้จะระบุว่าเป็นอาการเกี่ยวกับผิวหนัง แต่จะพบอาการอื่นๆเป็นอาการสำคัญได้ เช่น กระเพาะพักไม่เคลื่อนหรือเคลื่อตัวช้า และเยื่ออาหาร โดยเฉพาะในนกกระตั้ว เลิฟเบิร์ดและอัฟริกันเกรย์ อาจพบการตายได้ทันทีหรือหลายสัปดาห์หลังพบอาการ

4.     แบบเรื้อรัง (chronic form) เป็นอาการที่แสดงผลจากความผิดปกติที่ขนชัดเจนมากกว่าทุกรูปแบบและมักพบในนกที่มีอายุมากขึ้น ปกติสัดส่วนจะพบมากในช่วงอายุน้อยกว่า 3 ปี แต่มีรายงานพบได้ในทุกช่วงอายุ จนไปถึงนกแก่ก็ยังพบได้ โดยอาจไม่ตาย เว้นแต่จะเกิดติดเชื้อหรือมีโรคอื่นๆแทรกซ้อน จึงสามารถมีอายุได้ยืนกว่ารูปแบบอื่น 

       อาการของรูปแบบนี้จึงเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ขนร่วงทั้งตัว ขนเจริญผิดรูปและไม่สมบูรณ์ซึ่งจะพบรอยขีดตามเส้นขนที่เรียกว่า stress line มาก แต่อาการนี้พบได้จากความเจ็บป่วยอื่นๆ และภาวะทุพโภชนาการได้เช่นกัน พบขนที่ไม่เจริญติดอยู่ที่รูขุมขน ทั้งเป็นเพียงปลอกหุ้ม การคั่งเลือดที่รากขน และส่วนคาลามัส (calamus) และรากขนเป็นกระเปาะ มีรอยคอดก่อนรอยต่อไปที่ก้านขน (rachis) ขนอ่อนแอและหัก 

        ขนจะเริ่มร่วงจากขนอุยก่อน และไปขนกลุ่มปกคลุมร่างกาย ขนหัว ค่อยไปยังขนที่แข็งแรงที่สุดที่เป็นแบบขนแข็งทั้งก้านแบบไม่มีอุยติด เช่น ขนปลายปีกและขนหาง อาการขนร่วงจะรุนแรงมากขึ้นทุกครั้งที่มีการผลัดขนแต่ไม่งอกมาแทน อาการที่จงอยปากและเล็บ จะเกิดขึ้นช้าหรืออาจไม่พบเลย จะเกิดหลังจากขนผิดปกติก่อน (ในนกบางตัวอาจเกิดขึ้นพร้อมๆกัน หรือมีแค่อาการที่ปาก) และมักจะพบในนกไม่กี่ชนิดได้แก่ กาลาห์ มอลัคคัลและกระตั้วหงอนเหลืองหรือซัลเฟอร์  จะพบจงอยปากและเล็บยาวผิดปกติ และมีแผลที่ปาก 
 
อย่าลืมว่า เชื้อชนิดนี้ชอบเซลล์ที่ยังมีการเจริญเติบโตตลอดเวลา ผลทางพยาธิสภาพจึงเกิดขึ้นกับอวัยวะที่มีการพัฒนาเหล่านั้น และการตรวจเลือดและประเมินการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็น 


การติดต่อ

ตัวหลักในการติดต่อคือฝุ่นขน ซึ่งอาจปลิวไปกับอากาศและอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ปนเปื้อนไปกับมูลอุปกรณ์ แมลง และเสื้อผ้าผู้เลี้ยง นกยังแพร่เชื้อผ่านมูล สารคัดหลั่งหรือเสมหะ และติดต่อตัวอื่นจากการหายใจและกินสิ่งปนเปื้อนเชื้อ และแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายไปยังอวัยวะต่างผ่านเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด ตัวที่ป่วยและเป็นพาหะก็จะแพร่เชื้อได้ตลอด

เชื้อนี้ติดต่อได้ง่าย นกที่ไวต่อโรค เช่น กลุ่มกระตั้วและนกจากอัฟริกาก็จะแสดงอาการป่วย นกกลุ่มที่ทนอาจพบการติดเชื้อและสร้างภูมิได้ จึงไม่แสดงอาการ

 
การตรวจวินิจฉัยทำอย่างไรจึงจะแม่นยำ?

เดิมทีค่อนข้างจะยุ่งยาก เพราะเราต้องตรวจด้วยการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา โดยดูจากพยาธิสภาพของขนและปาก จะพบลักษณะ ballooning deneration และ necrosis ของเซลล์เยื่อบุผิวของ epidermal collar, bursa, และ intermediate zone ของก้านขนที่กำลังเจริญ พบการอักเสบแบบ nonsuppurative จะพบเม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบต่างๆที่กระเปาะรากขน ต่อมไธมัสและเบอร์ซ่าฝ่อและเกิดการเสื่อม ซึ่งจะส่งผลทำให้นกเกิดภาวะภูมิคุ้มดันบกพร่องได้

จะพบ basophils intranuclear and intracytroplasmic inclusion bodies (H&E) ซึ่งจะคล้ายกับโรคติดเชื้อPolyomavirus

ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการตรวจด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) หรือหาเชื้อโดยตรงจากร่างกายหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อ

ต้องทำความเข้าใจกันอีกว่า วิธีการนี้มีหลายรูปแบบ และมีความไวในการพบเชื้อ (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ไม่เท่ากัน 

 

วิธีที่นิยมตรวจกันในระยะแรกๆ คือ conventional PCR วิธีนี้จะมีความไวต่ำ เพราะปริมาณเชื้อถ้าน้อยอาจจะตรวจไม่พบ เช่น บางคนนำนกไปตรวจร่างกายขณะที่ไม่แสดงอาการ อาจจะมีเชื้อต่ำ หรือเก็บตัวอย่างเลือดทั้งจากเส้นเลือดเองมีปริมาณน้อยเกินไป รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ทั้งการขนส่ง ระยะเวลา และการเก็บถนอมตัวอย่าง จะมีผลกับการตรวจได้ ทำให้หลายครั้งจะได้ผลเป็นลบ เรียกว่าเป็นลบเทียม (false negative) หรือนกติดเชื้อแต่วิธีการนี้กลับตรวจไม่พบเพราะปริมาณตัวเชื้อน้อยหรือ PCR product น้อยจนไม่พบในการตรวจวิธีนี้ แต่ในกรณีที่นกแสดงอาการชัดเจนจะมีเชื้อมากระยะดังกล่าว โอกาสพบก็จะไวมากขึ้น

 

วิธีที่ถูกแนะนำให้ปฏิบัติคือเทคนิคที่ไปเพิ่มจำนวนเชื้อก่อนให้มากขึ้น หรือเพิ่มโปรดักส์ วิธีนี้จึงไวและแม่นยำกว่า และการเลือกไพรเมอร์ที่มีความจำเพาะกับเชื้อที่สนใจ จึงมีความจำเพาะมากขึ้น เรียกว่าreal-time PCR ดังนั้นการตรวจสุขภาพเพื่อคัดแยกนกที่ยังไม่แสดงอาการจึงควรใช้วิธีนี้ตรวจ หรือตรวจเพื่อดูผลการสร้างภูมิก็จะทำให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นว่านกปลอดเชื้อแล้วแท้จริง

 

ดังนั้นเบื้องต้น สัตวแพทย์ควรเก็บตัวอย่างเลือดให้ได้ปริมาตร 0.2-0.5 mL. ในหลอดป้องกันการแข็งตัวของเลือด หากใช้ก้านขนติดเชื้อหยดติดกระดาษก็ต้องชุ่มพอสมควร

 

เราควรทำอย่างไรเมื่อพบว่านกมีผลเป็นบวก?

 

ในกรณีที่ตรวจสุขภาพทั่วไปเพื่อคัดกรองโรคในนกที่ยังไม่แสดงอาการ และเมื่อตรวจผลเป็นบวก อาจเป็นภาวะติดเชื้อและนกสามารถสร้างภูมิป้องกันตัวเองได้ ให้ทำการตรวจซ้ำใน 90 วัน ถ้าผลเป็นลบแสดงว่านกได้มีภูมิและกำจัดเชื้อไปแล้ว แต่หากพบว่าตรวจซ้ำแล้วยังพบผลเป็นบวก ให้สงสัยว่าเป็นนกที่มีการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการและจะปรากฏอาการในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมักจะแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำทุกๆ 90 วันในนกที่ไม่แสดงอาการร่วมกับการรักษาประคับประคองหรือเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมักเป็น alternative therapy 

 

ทำการแยกกักกันนกที่พบผลบวก โดยเฉพาะนกที่แสดงอาการจะเป็นระยะที่มีการแพร่เชื้อมาก รอจนกว่าผลตรวจจะเป็นลบ และบางครั้งพบว่าผลตรวจเป็นลบแล้ว แต่อาการขนผิดปกติยังพบอยู่ แนะนำให้กักกันต่อจนกว่าจะมีการผลัดขนใหม่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้แนะนำว่า นกที่มีอากาคล้ายโรคอื่นๆ เช่น PDD, Psittacosis, Fledging disease, Bacterial infection ควรตรวจ PBFD ร่วมด้วยเสมอ เพราะอาจเป็นสาเหตุหรือโน้มนำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน 

 

การป้องกันและรักษา

ไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลกับไวรัสชนิดนี้ แต่ควรให้การรักษาแบบประคับประคองร่วมกับป้องกันการแทรกซ้อนของเชื้ออื่นๆ ได้แก่ การจัดการสุขาภิบาล การให้อาหารที่เหมาะสม การรักษาแผล การให้ปฏิชีวนะต้านแบคทีเรียและเชื้อรา เป็นต้น 

ควรทำการตรวจนกเข้าใหม่ด้วย real time PCR และกักโรคจนมั่นใจว่าจะไม่เป็นพาหะ และทำการตรวจโรคสม่ำเสมอในฝูง หมั่นทำความสะอาดฆ่าเขื้อในสถานที่เลี้ยง เพราะเชื้อสามารถมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมได้นานมากกว่า 3 ปี

น้ำยาทำความสะอาดและกำจัดเชื้อที่แนะนำ ได้แก่ 1% iodine, sodium hypochlorite, 0.4% B-propiolactone, และ 1% glutaraldehyde ที่ 80 องศาเซนเซียส นาน 1 ชั่วโมงสำหรับอบเครื่องมือ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้