โรคลมร้อนในกระต่าย (Heat stroke in rabbit)

40558 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคลมร้อนในกระต่าย (Heat stroke in rabbit)

โรคลมร้อนในกระต่าย

(Heat stroke in rabbit)

โดย สพ.ญ. จิรกานต์ ว่องวิทย์ (หมอฟางข้าว)  

 

โรคลมร้อน หรือ โรคลมแดด หรือที่คุณหมอชอบเรียกทับศัพท์กันว่า ฮีทสโตรก (Heat stroke) นับเป็นภาวะฉุกเฉินที่สามารถพบได้มากในประเทศไทยซึ่งเป็นดินแดนที่มีแต่ฤดูร้อน ร้อนมาก และร้อนที่สุด!

เหตุที่น้องกระต่ายทนร้อนได้น้อยกว่าสัตว์อื่นๆคือเดิมทีกระต่ายเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรงซึ่งมีอุณหภูมิโดยรอบคงที่ ต่างจากกระต่ายสัตว์เลี้ยงที่ถูกเลี้ยงในพื้นที่ที่เจ้าของจัดสรรและที่สำคัญคือร่างกายของกระต่ายระบายความร้อนด้วยการหายใจเป็นหลัก ไม่มีต่อมเหงื่ออย่างสัตว์ชนิดอื่น บางครั้งอาจพบหยดน้ำบนจมูกคล้ายน้ำมูกใสได้เพราะมันคือสิ่งที่กระต่ายผลิตมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพาความร้อนด้วยการหายใจผ่านหยดน้ำบริเวณจมูกนั่นเอง ส่วนใบหูของกระต่ายเป็นบริเวณที่ขนน้อยที่สุดและมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเยอะ ทำให้มีการระบายความร้อนด้วยการขยายหลอดเลือดบริเวณนี้เป็นสำคัญเช่นกัน

ความหมายของโรคลมร้อนในกระต่ายคือภาวะอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 104 F (104 ฟาเรนไฮต์เท่ากับ 40 องศาเซลเซียส) ทำให้กระบวนการระบายความร้อนของร่างกายเสียหาย ศูนย์การควบคุมความร้อนของร่างกายไม่สามารถทำงานต่อได้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆถูกทำลายจากความร้อน อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการแก้ไขที่รวดเร็วพอ และอวัยวะที่ไปก่อนเพื่อนคือ ปอดซึ่งเป็นหนึ่งอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินหายใจ  ดังนั้นกระต่ายที่รอดจากภาวะนี้มักมีปัญหาเรื่องระบบหายใจติดตัวตามมา

ปัจจัยเสี่ยงที่โน้มนำให้เกิดโรคลมร้อนในกระต่าย

1. สภาพอากาศที่ร้อนจัดและความชื้นสัมพัทธ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

2. การมีโรคประจำตัวมาก่อน เช่น ระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นระบบหลักในการปรับสมดุลความร้อนของร่างกาย

3. ประวัติเคยป่วยด้วยโรคลมร้อนมาก่อน

4. น้ำหนักเกินหรืออ้วน, ขนยาวหรือขนหนา

5. สายพันธุ์ เช่น กระต่ายพันธุ์แคระ (Netherland dwarf) ที่มีลักษณะใบหูที่สั้นและกระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป (Holland lop) ที่มีลักษณะใบหูตกมีความเสี่ยงกว่ากระต่ายพันธุ์ที่มีลักษณะใบหูใหญ่และตั้ง

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคลมร้อนกับกระต่ายของคุณ

1. เลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้ในพื้นที่โล่งลมถ่ายเทได้สะดวกหรือมีร่มเงาให้หลบหากจำเป็นต้องปล่อยออกมาทำกิจกรรมภายนอกบ้าน

2. มีถ้วยน้ำวางไว้เสมอหรือพรมน้ำลงบนอาหารกรณีที่กระต่ายไม่ชอบกินน้ำเป็นนิสัย

3. เปลี่ยนแผ่นรองพื้นเป็นสิ่งที่นำความเย็นได้ง่าย เช่น กระเบื้องหินอ่อน เป็นต้น หรือโอ่งดินเผาใส่น้ำแข็งก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

4. ตัดและหวีตกแต่งขนกระต่ายเสมอ

5. สังเกตสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกระต่ายเป็นสัตว์ถูกล่าจึงมักเก็บอาการ หากเจ้าของสามารถสังเกตได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดได้เท่านั้น เช่น ใบหูแดงจนผิดสังเกต ไม่ปัสสาวะหรือพฤติกรรมเปลี่ยนซึมลงไม่ค่อยกินอาหาร ไม่มีแรงหายใจเร็วจนรูจมูกบาน เป็นต้น

สัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกว่าลูกของคุณเป็นโรคลมร้อน

1. พฤติกรรมเปลี่ยน ซึม เบื่ออาหาร อาการแรกที่สัตว์มักแสดงออกมาให้เจ้าของทราบไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด หากเราสังเกตไวและหาสาเหตุเจอไวย่อมดีกับตัวสัตว์มากเท่านั้น

2. หายใจเสียงดัง หอบ จมูกบาน หายใจเร็ว หายใจกระแทกจนตัวโยนหรือท้องกระเพื่อมถี่ อ้าปากหายใจ นี่ก็เป็นอีกอาการหลักของโรคระบบทางเดินหายใจ ควรเร่งหาสาเหตุให้พบก่อนที่จะสายเกินแก้

3. ขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ สั่น หรือชัก เป็นอาการที่บ่งบอกว่าสัตว์เลี้ยงของคุณไม่ไหวแล้ว เพราะสมองที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของร่างกายเสียหายหนักจน เกิดเป็นอาการเหล่านี้ให้เห็น

4. น้ำลายไหล คางเปียก อาจดูคล้ายกับอาการของโรคฟันสบกันไม่สมบูรณ์ของกระต่าย(Malocclusion) แต่สามารถพบได้บ้าง(ส่วนน้อย)ในกระต่ายที่เป็นโรคลมร้อน เนื่องจากน้ำลายถือว่ามีคุณสมบัติเป็นเหลว สามารถระบายความร้อนด้วยการพาเช่นเดียวกับเหงื่อแต่ไม่ดีเท่า ดังนั้นหากพบอาการนี้แสดงว่ากระต่ายร้อนจนร่างกายหมดทางเลือกแล้ว

5. ไม่อึ หรืออึได้แต่ขนาด/รูปร่างเปลี่ยนไป เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงของโรคลมร้อน อาการดังกล่าวคืออาการหลักของโรคทางเดินอาหารบีบตัวช้า(Gastrointestinal hypomotility) หรือเรียกง่ายๆว่า ท้องอืด นั่นเอง

เมื่อพบอาการเหล่านี้แล้วควรทำอย่างไรดี?

พามาหาหมอคือคำตอบที่ดีที่สุด แต่ในกรณีต้องเดินทางไกลหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ไม่สามารถไปพบสัตวแพทย์ได้ในทันทีทันใดคือ ‘การลดอุณหภูมิอย่างเร่งด่วน (Cooling down)’เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เจ้าของน่าจะทำได้มากที่สุด แต่ข้อควรระวังสำคัญคือการลดอุณหภูมิที่เร็วเกินไปจะทำให้สัตว์เลี้ยงช็อคจากการที่อุณหภูมิต่ำเกินไป (Hypothermia) ได้เช่นกัน

ดังนั้นควรทำเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นแรก : นำสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่เสี่ยง

ขั้นที่สอง : ระบายความร้อน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

● ระบายความร้อนด้วยการสัมผัส (Conduction) :

โดยการนำแท่งเย็นหรือน้ำแข็งห่อผ้ามาประคบบริเวณข้อพับหรือวางขนาบลำตัวกระต่ายหรือสำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณใบหูเพื่อให้หลอดเลือดขยาย

● ระบายความร้อนด้วยการพา (Convection) :

โดยการนำสำลีชุบแอลกอฮอล์ซึ่งคุณสมบัติระเหยได้ง่ายเช็ดบริเวณใบหู ซึ่งเป็นบริเวณหลักที่มีการตอบสนองต่อความร้อนเนื่องจากเส้นเลือดมาเลี้ยงเยอะและมีขนปกคลุมน้อย

● กรณีที่สัตว์เลี้ยงยังคงตอบสนองได้ดีให้ทำการป้อนน้ำและสังเกตปัสสาวะ หากไม่พบปัสสาวะให้บีบกระเพาะปัสสาวะ (Induce urination)เพื่อระบายปัสสาวะที่คั่งค้างออก ถือว่าเป็นการระบายความร้อนทางหนึ่งเนื่องจากปัสสาวะคือของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย

ขั้นตอนที่สาม : วัดอุณหภูมิทางทวารหนัก (Rectal temperature)

ตลอดการช่วยเหลือ เพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป(Hypothermia)

 ขั้นที่สี่ : รีบพามาหาสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด



    การรักษาโรคลมร้อนในกระต่ายไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับอาการของสัตว์ สภาพของสัตว์และดุลยพินิจของสัตวแพทย์เจ้าของเคส

ดังนั้นหัวข้อนี้เราจะพูดกันกว้างๆว่าโดยทั่วไปแล้วคุณหมอจะทำอะไรกับลูกของคุณบ้างเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการรักษามากที่สุด

1. ลดอุณหภูมิร่างกายของกระต่าย

2. ดมออกซิเจน เพื่อให้กระต่ายหายใจสะดวกขึ้น

3. ให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด หรือใต้ผิวหนัง

4. เจาะเลือด เพื่อช่วยในการประเมินการทำงานของอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตับ ว่ายังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ หรือโดนทำลายจากความร้อนไปหมดแล้ว

5. เอ็กซเรย์ เพื่อประเมินความเสียหายของอวัยวะภายใน

6. บริหารยาที่จำเป็นกับกระต่ายตัวนั้นๆ เช่น ยาซึม ยาสงบประสาท ยาลดไข้ลดอักเสบ ยาฆ่าเชื้อ ยากระตุ้นทางเดินอาหาร ยาลดปวด เป็นต้น

ไม่ว่าจะวินิจฉัยเร็วหรือช้าก็ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการรักษาเพราะโรคลมร้อนคือการรักษาตามอาการอยู่แล้ว แต่!! ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของสัตว์ว่ามีความเสียหายหรือล้มเหลวของระบบใดไปแล้วบ้าง

ดังนั้นการจัดการแรกที่ควรทำเมื่อมีผู้ป่วยโรคลมร้อนมาคือทำการลดอุณหภูมิให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดความเสียหายจากความร้อนลง ขั้นถัดมาคือการป้องกันความล้มเหลวของระบบต่างๆที่โดนกระทบจากความร้อนได้รวมถึงการวินิจฉัยหาสาเหตุหลักให้พบเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการรักษาไม่ใช่แค่พยุงอาการเพียงอย่างเดียว ขั้นตอนสุดท้ายคือการบำรุงร่างกายสัตว์ป่วยที่รอดจากโรคลมร้อนเพื่อชดเชยการทำงานบางอย่างที่เสียไประหว่างช่วงเวลาที่สัตว์ยังไม่ได้รับการรักษาทันถ้วนที

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้