โอ
กระรอกขาอ่อนแรง (43 อ่าน)
28 ก.ย. 2567 15:51
สวัสดีครับ... น้องเป็นกระรอกดง อายุ 7 เดือน กว่าๆ นิสัยส่วนตัว คือ ขี้กลัว เวลาพาออกไปข้างนอกบ้าน รวมถึงเวลาเห็นสิ่งของแปลกๆ หรือ เอาของบางอย่างมาวางไว้ในบ้าน เค้าก็จะกลัว...
อาการป่วยของน้อง คือ เวลาที่น้องกลัว หรือ ตกใจ จะมีอาการขาอ่อนแรง...
ครั้งแรกที่เริ่มแสดงอาการ คือ ตอนอายุประมาณ 4 เดือน เอาน้องใส่กรงเล็กแล้วพาน้องไปอาบแดดที่หน้าบ้านตอนเช้า ขณะที่กำลังอาบแดดอยู่ ก็มีรถมอร์เตอร์ไซด์วิ่งผ่าน น้องตกใจกลัววิ่งไปวิ่งมาในกรง ผมเลยเอาน้องเข้าบ้าน น้องก็วิ่งไปแอบหลังรูปภาพที่แขวนไว้ที่กำแพงบ้านแอบอยู่เป็นชั่วโมง ผมจึงจับเข้ากรง น้องก็เข้าไปซุกในผ้านอน พอเวลาผ่านไปประมาณ 4-5 ชม. น้องออกมาจากผ้านอน น้องก็มีอาการขาหลังแข็ง ขยับขาหลังไม่ได้ เดินหมุนเป็นวงกลม เหมือนคนเป็นอัมพฤกษ์ เป็นอยู่ประมาณ 5 นาที อาการก็เริ่มดีขึ้น คือ เริ่มขยับขาหลังได้ เดินไป-มาได้ แต่เวลาเดินก็ยังดูเกรงๆ ติดๆขัดๆ... เป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน ก็หาย กลับมาวิ่งเล่นได้ปกติ...
ส่วนครั้งที่ 2 ที่มีอาการ คือ จับน้องไปอาบน้ำ เพื่อกำจัดเหาในตัวน้อง น้องก็มีอาการคล้ายกับครั้งแรก คือ ขาหลังอ่อนแรง แต่อาการจะเบากว่า เป็นอยู่ 2-3 วัน อาการก็หายไปเองเหมือนเดิม...
ละครั้งที่ 3 คือ ตอนพาน้องไปหาหมอเพื่อหยดยากำจัดเหา วันรุ่งขึ้นน้องก็ยังปกติดี แต่พอเข้าวันที่ 2-3 ที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ สังเกตุได้จากที่เหาเริ่มทยอยตาย ร่วงหล่นลงมาจากตัวน้อง ขาหลังน้องก็เริ่มอ่อนแรงอีกครั้ง แต่อาการเบากว่า 2 ครั้งแรก คือ น้องเดินได้ ปีนป่ายกรงได้ แต่ขาไม่มีกำลังพอที่จะกระโดด ปกติน้องจะกระโดดเก่งมาก แต่นี่แค่ระยะใกล้ๆ น้องยังโดดไปไม่ไหว ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะผลข้างเคียงของยารึเปล่า!? เพราะ เป็นมา 1 เดือนกว่าๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่หายซะที...
ละเมื่อสัปดาห์ก่อน อยู่ๆ น้องก็ตกใจ ช็อค!!! ตัวแข็ง เพราะ เห็นผ้าเช็ดตัวสีแดง... ร้องเสียงแหลม สลับกับร้องเป็นจังหวะเหมือนเสียงเห่า ตัวแข็ง ขาแข็ง ขยับไปไหนแทบจะไม่ได้... เลยต้องอุ้มน้องมาปลอบอยู่เกือบๆ 2 ชม. น้องถึงจะหยุดร้อง แล้วหายช็อค... แล้วอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้น คือ เริ่มเดิน เริ่มขยับตัวได้... นี่ก็ผ่านมาประมาณ 10 วันแล้ว จากที่น้องตกใจช็อคครั้งล่าสุด แต่อาการก็ยังไม่หายเป็นปกติซักที... ยิ่งถ้ารวมระยะเวลาตั้งแต่ตอนที่พาน้องไปหยดยา ละมีอาการขาอ่อนแรง มาจนถึงตอนนี้ ก็ผ่านมาเกือบๆ 2 เดือน แล้วครับ...
อาการปัจจุบัน คือ น้องเดินได้ ปีนป่ายกรงได้ แต่ไม่ค่อยคล่องแคล่วนัก และ ขยับขาหลังได้ ใช้ขาเกาตัวเองได้... แต่ วิ่งเร็วไม่ได้ กระโดดไม่ได้... กินอาหารได้ หน้าตาสดใสครับ....
ประวัติการรักษา...
ตอนอายุ 2 เดือน น้องเคยสำลักอาหารลงปอดติดเชื้อ คุณหมอเลยจ่ายยาปฏิชีวนะมารักษาอาการจนหาย
โอ
ผู้เยี่ยมชม
อ.แก้ว ขวัญคำ
28 ก.ย. 2567 20:41 #1
ผมจะอธิบายเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการที่พบ ส่วนสิ่งแวดล้อมอื่นๆบางประการผมอาจจะแยกออกไปบางส่วน ข้อดีของกระทู้นี้คือผู้เลี้ยงให้ข้อมูลไว้ดีมากครับ ทำให้ประเมินได้แคบลงได้
ประวัติว่าเคยสำลักอาหารและอาจมีการติดเชื้อที่ปอด จากภาพรวมไม่สัมพันธ์กับอาการที่พบซึ่งควรจะเป็นอาการของระบบทางเดินหายใจ แต่อาการที่พบเกี่ยวข้องกับกลไกทางสรีรวิทยาที่จะกล่าวต่อไป และอีกประการคือเป็นอาการทางประสาทที่เกิดกับสัตว์ได้ และไม่จำเป็นต้องเกิดบ่อยๆ นานๆครั้งเมื่อเกิดการกระตุ้นด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เป็นได้ คล้ายโรคลมชักในคน อย่างไรก็ตามในเคสของระบบประสาทจะประเมินเป็นกรณีหลัง หลังจากที่ประเมินผลกระทบด้านสรีรวิทยาโดยตรงได้ก่อน และสัมพันธ์กับอายุกระรอกยังน้อย
จากข้อมูลอาการที่พบเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับช่วงการตกใจ การจับ ความเครียด เวลาเกิดความหวาดกลัว และการหลบหนีการวิ่ง เมื่อทำการจับกลุ่มอาการทางคลินิกจะมองภาพรวมออกว่าเป็นจากผลกระทบจากสาเหตุเหล่านั้นแต่ผลไปเกิดกับร่างกายแบบเดียวกันด้วยกลไกเดียวกัน เมื่อสตว์มีความเครียด หวาดกลัว และมีการวิ่งหรือตัวสั่น จะพบมีการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างมาก เป็นภาวะคล้ายคนที่ตกใจวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว หรือกวางที่ถูกไล่ต้อน จึงเกิดการสะสมของกรดแลคติกในร่างกายอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกล้ามเนื้อของขาหลัง จะแข็งเกร็งก่อน หลังจากนั้นจะอ่อนแรง และมีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อไปอีกหลายวัน และบางเหตุการณ์หลังจากมีการจับหรือตกใจจะแสดงอาการหลังจากนั้นไปอีก 2-3 วันตามที่แจ้งครับ และบางรายที่กล้ามเนื้อยังบาดเจ็บแต่ถูกจับหรือตกใจหวาดกลัวซ้ำ อาจถึงการอัมพาตเลยหรือแข็งเกร็งไปทั้งตัว การสะสมของกรดแลคติกถ้าในคนจะทำให้เกิดตะคริว บริเวณที่เป็นบ่อยคือน่อง และในสัตว์เมื่อทำการตรวจมักจะพบกล้ามเนื้อซีดขาวเสียหาย และกรดแลคติกที่สะสมจะเกิดร่วมกับการทำงานของร่างกายที่ใช้พลังงานแบบไร้ออกซิเจน มักจะพบในกรณีที่หนีอย่างรวดเร็ว ตกใจสุดขีดและกระโจน กล้ามเนื้อจะแข็งเกร็งได้ในทันที และหลังจากนั้นจะอ่อนแรงที่ขาหลัง รายที่เป็นหนักจะพบทั้งตัว บางรายจะหอบ หัวใจเต็นเร็ว คอบิด เดินเป๋หรือไม่สัมพันธ์ ถ้าสังเกตให้ดีจะมีปัสสาวะสีเข้มขึ้น และตายได้จากกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงและไตวาย
ในกรณีนี้ยังเกิดจากการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดวิตามินและแร่ธาตุ ตัวสำคัญในกรณีโรคแบบนี้คือวิตามินอี และซิลีเนียม บางรายให้มีการเสริมหรือจากอาหารเม็ดเฉพาะ จะช่วยให้ให้ทนทานมากขึน ซึ่งมักพบในสัตว์อายุน้อย กระรอก กระแต กวาง นก
อีกกรณีที่เกิดจากความเครียด หวาดกลัว หรือตกใจจากการถูกจับบังคับ จะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนแอดรีนาลีนหรือกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติกส์ครับ ตัวนี้จะไปทำให้เกิดการหดเกร็งของหลอดเลือดหรือตีบแคบ ทำให้เกิดการไหลเวียนหรือที่จะนำพาออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆโดยเฉพาะอวัยวะส่วนปลายลดลง ทำให้กล้ามเนื้อขาดออกซิเจน จึงเกิดการใช้พลังงานแบบไร้ออกซิเจน (ทั้งที่การใช้พลังงานที่ได้พลังงานมากและลดการสะสมกรดแลคติกคือการใช้แบบพึ่งออกซิเจนในวัฏจักรเครปส์) และเป็นที่มาของการสะสมกรดแลคติกได้เช่นกัน จึงเกิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็งและตามด้วยอ่อนแรง และยังพบการอักเสบของกล้ามเนื้อได้หลายวัน พอเป็นบ่อยๆ กล้ามเนื้อจะพังและเกิดเป็นพังผืด และสัตว์มักจะแคระแกรนได้
จากกรณีนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างมากในลูกสัตว์ที่ตกใจง่าย เป็นเรื่องของการฝึก การเข้าหา การจัดการอาหารก็สำคัญ การมีอากาศที่ถ่ายเทหรือไม่ชื้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาเหตุอื่นๆก็อาจจะพบเป็นสาเหตุได้ แต่สาเหตุจากภาพรวมที่เล่าของตัวนี้ บ่งชี้มาตามที่ได้อธิบายไป พออายุมากขึ้นกระรอกจะมีพัฒนาการทั้งกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น โอกาสเกิดปัญหาก็จะลดลง แต่ถ้ายังเกิดแม้ว่าจะอยู่เฉยๆ แบบนั้นจะให้พิจารณาไปที่อาการของระบบประสาทต่อไปครับ ขอให้หายไวไวครับ
อ.แก้ว ขวัญคำ
ผู้เยี่ยมชม