คนรักกระต่าย
โรคโปรโตซัวในกระต่าย (1456 อ่าน)
30 ส.ค. 2566 06:54
รบกวนสอบถามคุณหมอ .... ทราบอาการของโรคในระดับหนึ่ง อยากทราบว่า ปัจจุบันโรคโปรโตซัว หากรักษางิธีทางเลือกโดยการให้น้องทำกายภาพ บิดคอ ให้ยาบางชนิดทซึ่งไม่ทราบว่ายาอะไร เป็นทางเลือกกำลังลองรักษาอยู่เผื่อน้องจะกลับมาหายได้ คนที่รับไปดูแล แบบทางเลือก เขาแจ้งว่า เขาจะฉีดยาให้ทุกสัปดาห์ แล้วกายภาพให้น้อง ด้วยการจับน้องมาบิดคอให้กลับมาตรง เขาเคยส่งรูปกับวีดีโอกระต่ายที่เขารักษาได้มาให้ดูค่ะ เลยตัดสินใจลองส่งน้องไป อันนี้จะครบ 1 เดือน ก่อนน้องไป น้องเริ่มมีอาการกลิ้ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่า อาจจะกลิ้งน้อยหรือมาก ต้องรอเขาเอาน้องกลับมาส่งอีกที แต่จากวีดีโอที่เขาส่งมาบอกน้องไม่กลิ้งแล้ว แต่เป็นช่วงระยะสั้นๆที่ถ่ายมา ด็ยังเห็นกลิ้งอยู่บ้าง จริงๆแล้วโรคนี้มันจะสามารถกลับมาหายได้หรือไม่ คือนี้เหมือนคอจะเอียงรอบนึงแต่มห้กินยาโปรโตซัวแล้วหาย แต่น้องก็กลัมาเป็นซ้ำอีก อยากทราบว่า ปกติแล้ว ที่เห็นคนรักษาเขาบอกว่า ถ้าน้องหาย น้องก็จะไม่เป็นโรคนี้แล้วจริงมั้ย และหากน้องคอเอียงไปแล้ว ถึงน้องจะทานยาโปรโตซัวครบแล้ว หากน้องนังมีอาการคอเอียง มันก็เป็นไปไม่ได้ใช้มั้ยค่ะ ที่น้องจะกลับมาเหมือนเดิม เพราะอาการมันเกินสามเดือนแล้ว คอน้องยังเอียงอยู่ ที่บ้านมีสองตัวเป็นแบบนี้ที่ไม่หาย แต่น้องสามารถพอทรงตัวได้ กินอาหารเองได้ แต่กลิ้งตลอด อีกตัวกลิ้งน้อย แต่คอเอียง บางครั้งก็กลับมาตรงได้เอง
เลยอยากขอความรู้ ไม่อยากโดนหลอก และไม่อยากให้น้องไปอยู่พักกับคนที่รับไปดูแล หากเขาไม่สามารถรักษาน้องได้จริง โรคนี้ ถ้ากินยาโปรโตซัวก็แล้ว ฉีดยาฆ่าเชื้อก็แล้ว ยังไม่หาย มันมีโอกาสที่จะกลับมาหายมั้ยค่ะ
คนรักกระต่าย
ผู้เยี่ยมชม
อ.แก้ว
30 ส.ค. 2566 21:43 #1
เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจครับ ผมจะพยายามจากเล่าง่ายๆไปยากนะครับ เชื้อ Encephalitozoon cuniculi ย่อว่า EC กันไปก่อนถ้าจำชื่อเต็มไม่ได้ เป็นเชื้อที่ก่อโรคที่ก้านสมอง สมองส่วนซีลีเบลล่า ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเวสตริบูล่า หากจะอธิบายง่ายๆคือมีผลกับการทรงตัว การเดิน การเอียงหัว การกระตุกของลูกตา ไปจนถึงการพบเป็นอัมพาตบางส่วน และยังเกิดโรคที่อวัยวะอื่นได้ เช่น ไต ตับ ตา กล้ามเนื้อหัวใจที่พบบ่อย ๆ
แบ่งเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท คือสิ่งที่เจ้าของมักจะได้เห็นเป็นส่วนใหญ่ คือ หัวเอียง ตากระตุก และอาการที่ไม่เกี่ยวกับระบบประสาท ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ทราบจนกว่าจะทำการชันสูตรหรือมีการตรวจเลือดและพบผ่านวิธี CIA หรือ ELISA หรือจะ PCR โดยไปพบสปอร์ในปัสสาวะ ซึ่งในไทยเหลือตรวจบางรายการเท่านั้น
ผมเกริ่นให้ทราบตามนั้นแบบย่อเพื่อให้เข้าใจเสียก่อน เพราะในงานวิจัยในไทยบ่งชี้ว่ากระต่ายในไทยพบผลการตรวจพบเชื้อ โดยวิธี ELISA สูงมาก เกินกว่า 70-80% นั่นหมายถึงกระต่ายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดนี้ แต่จะมีแบบทั้งแสดงอาการประสาทและไม่แสดงอาการทางประสาท ผู้เลี้ยงจึงมักไม่ได้สังเกต การติดต่อก็เกิดได้ง่าย เช่นติดมาจากแม่โดยตรง การกิน การหายใจ การติดเชื้อ รวมไปถึงการติดเชื้อซ้ำ แม้ว่าจะรักษาแล้วหายหรือเกิดภูมิคุ้มกันแล้วอาการหายไปแล้ว จึงเกิดอีกได้เมื่อติดเชื้อซ้ำครับ
เพราะเป็นการเกิดอาการประสาทจากสมอง และก้านสมอง จึงมักรักษาให้หายยาก เมื่อเทียบกับอาการทางประสาทที่เป็นเวสตริบูลา (vestribula disrders) เหมือนกันแต่เกิดกับการอักเสบของช่องหูส่วนกลางและส่วนใน จึงมีคำหนึ่งว่า advance neurological signs แสดงว่าอาการมีตั้งแต่อ่อน ปานกลาง และรุนแรง ในรายที่เชื้อเข้าไปสู่เซลล์แล้ว (intracytoplasmic) หรืออยู่ในไซโตพลาสสึมของเซล์ลแล้ว ยังสามารถกำจัดได้ แต่พบหลายรายเมื่อชันสูตรซาก เกิดเป็นก้อนเนื้อเล็กๆที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หากจะเรียกตามศัพท์คือเป็นแกรนูโลม่า เพราะร่างกายพยายามต่อต้านและหุ้มเอาไว้ เป็นน้อยก็เสมือนไม่มีการติดเชื้อใดใด แต่แกรนูโลม่านี้หากมีผลไปขัดขวางระบบประสาท อาการทางประสาทจะปรากฏขึ้น รวมทั้งในระยะแรกๆที่เกิดการติดเชื้อจะเกิดการอักเสบ ระยะที่เกิดการอักเสบจากการข้าสู่เซลล์ของร่างกาย จะปรากฏอาการให้เห็นได้ และหลังจากนั้นจะค่อยๆทุเลาในรายที่ร่างกายทำการกำจัดเชื้อได้เองหรือทำการกำจัดขอบเขตการทำลายอวัยวะของเชื้อครับ
นั่นหมายถึง อาการจะหายไป ทั้งที่ยังมีอยู่หรือไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม เพราะไม่มีใครบอกได้ว่ายังมีเชื้ออยู่หรือไม่ (ในงานวิจัยจึงพยายามติดตามด้วยการหาสปอร์เชื้อจากปัสสาวะ หรือหาระดับแอนติเจนหรือแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันจากเลือด เป็นการบ่งชี้ภาวะติดเชื้อ) ดังนั้นตัวที่หายจากอาการ อาจจะทุเลาได้เองจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ได้ หรือเกิดจากการรักษาก็ได้ จึงมีการทดสอบการรักษาต่างๆ ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะเล่าต่อไป
ในช่วงที่มีการติดเชื้อ จะเกิดการอักเสบแน่นอน และหากการอักเสบมีผลรุนแรงจะมักตอบสนองต่อการใช้ยาลดอักเสบ แต่เพียงในระยะแรกๆ ต้องร่วมกับการกำจัดเชื้อด้วยยาหรือจากร่างกายเอง เพราะเมื่อบรรเทาจากการอักเสบก็เสมือนจะดีขึ้นแต่เชื้อจะยังคงอยู่จนกว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายจะช่วยกำจัด ซึ่งตัวที่มักจะได้ผลและออกฤทธิ์เป็นตัวแรกๆ เรียก T-cells หากตัวนี้แข็งแรงก็จะต้านเอาไว้ ตัวต่อมาเป็นพวกอินเตอร์ฟีรอน ขณะที่พบภูมิคุ้มกันที่เป็นกลุ่มสารน้ำ (humural immunity) กลับช่วยได้น้อยและมักจะไม่สามารถต้านการติดเชื้อซ้ำได้ ที่เล่าแบบนี้จะให้เห็นว่าร่างกายก็ยังต้องขึ้นกับชนิดที่เข้าไปต่อต้าน และเซลล์อักเสบบางตัวเช่นมาโครเฟจ เมื่อจับกินแล้วเชื้อไม่ตายก็จะถูกหลอกให้พาเชื้อไปกำจัดที่ม้าม และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและไปส่วนอื่นในร่างกายได้จากการนำพาของมาโครเฟจ อย่างไรก็ตาม ในรายที่เป็น และกระต่ายมีความแข็งแรง มีการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างดี จะเกิดการกำจัดเชื้อและหายได้
แสดงว่าโรคนี้หายได้ และสงบลงได้ ด้วยตัวกระต่ายเอง แต่หากแสดงอาการแบบเรื้อรังแบบ advance หรือสมองได้รับผลกระทบแบบถาวรแล้ว แม้จะมีภูมิคุ้มกันและได้ยากำจัดเชื้อร่วมก็จะไม่ทุเลา และยังมีผลแตกต่างกันระหว่างกระต่ายแต่ละวัย โดยพบว่ากระต่ายแรกเกิดจนถึง 7 สัปดาห์มักจะได้ภูมิจากแม่ แต่จะพบอาการที่ตาเป็นส่วนใหญ่ และพบที่ไต แต่มักไม่พบที่อวัยวะอื่น ๆ การแสดงอาการมักจะไม่ค่อยพบเมื่อเทียบกับกระต่ายที่อายุมากกว่า ยิ่งในช่วงอายุน้อยคือ ก่อน 4 สัปดาห์ที่ยังคงมีภูมิที่ได้รับจากแม่ มักจะทนต่อการเกิดโรคได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในกระต่ายในช่วงอายุ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งมักจะพบเชื้อในสมองได้หลังจากการกินหรือติดเชื้อเข้าไปประมาณ 2 เดือน ที่ต้องเล่าแบบนี้เพราะยังขึ้นกับอายุกระต่ายว่าจะทำให้เกิดอาการหรือไม่มีอาการ
การรักษาให้หายทำได้ด้วยยา! มีรายงานจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนการใช้ยาบางชนิดที่หมอในไทยนิยมใช้กันอยู่แล้วในการรักษาเชื้อโปรโตซัวไข้สมองอักเสบ หรือ EC นี้ สามารถรักษาให้หายได้ พบว่ายาจะออกฤทธิ์ต่อเชื้อได้ดีแม้ว่าจะอยู่ภายในเซลล์แล้ว เมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างตัวที่ได้ยากำจัดและไม่ใช้ยาชนิดเดียวกันนี้ พบว่าอัตราในการรักษาหายสูงมากกว่า 1.6 เท่า และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่ายากำจัดเชื้อได้ และยังมีการชันสูตรพิสูจน์ในบางรายงาน และทำการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน เชื่อได้ว่ายาเหล่านี้กำจัดเชื้อให้หายขาดได้ แต่ยังเชื่อว่าไม่ใช่ทุกราย ขึ้นกับว่ามีผแบบเรื้อรังและทำลายสมองแบบถาวรแล้วหรือไม่ จากข้อมูลนี้ช่วยชี้ได้ว่าการนำไปรักษาถูกวิธีแต่เนิ่นๆที่พบอาการจึงช่วยให้เกิดโอกาสในการหายได้มากขึ้น
ระวังการติดเชื้อซ้ำ แม้ว่าหายแล้ว เพราะตัวที่มีอยู่ที่บ้านตัวอื่นๆ อาจเป็นพาหะนำโรค แม้กระทั่งสปอร์ของเชื้อจากตัวที่เคยป่วยที่ติดตามผ้า พรม อุปกรณ์ที่ทมากับปัสสาวะ แม้ว่าจะถูกกำจัดได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีการทำความสะอาดด้วยน้ำยากำจัดเชื้อ
ทั้งหมดนี้ให้พิจารณาจากข้อมูลนี้เองนะครับ หากการรักษาใดใด ไม่ชัดเจนก็ขอให้ถามผู้ทำการรักษาผู้นั้น เช่น ฉีดยาอะไร ส่วนกายภาพบำบัดสามารถทำได้ เป็นเรื่องปกติที่ทำกันได้เพื่อช่วยฟื้นฟูศักยภาพของร่างกายครับ ขอให้หายไวไวครับ
อ.แก้ว
ผู้เยี่ยมชม