34 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกินในสุนัข (Patent ductus arteriosus, PDA)
โดย น.สพ.จิรสิน จินตนาภูษิต (หมอเจเจ) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
โรคหัวใจมักถูกเข้าใจว่าเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อม และพบได้ในสัตว์อายุมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคหัวใจยังเกิดกับสัตว์อายุน้อยได้เช่นกัน โดยมักเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital defects) ซึ่งเกิดจากการพัฒนาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และมักก่อให้เกิดอาการทางคลินิกในช่วงวัยเจริญเติบโตของสัตว์
ภาวะหลอดเลือดหัวใจเจริญเกิน (Patent ductus arteriosus, PDA) ในสุนัข เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่กำเนิด ซึ่งถือว่าพบได้เป็นอันดับต้นๆของโรคหัวใจแต่กำเนิดในสุนัข โดยความผิดปกตินี้เกิดจากหลอดเลือดที่ชื่อว่า dustus arteriosus ยังคงอยู่หลังคลอด ซึ่งปกติแล้วหลอดเลือดนี้จะ ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) กับหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary artery) เพื่อส่งผ่านเลือดจากหัวใจห้องขวามายังหลอดเลือดแดงใหญ่เลยโดยไม่ผ่านปอด(right to left shunt) เนื่องจากในระหว่างเป็นตัวอ่อนในครรภ์ ปอดยังไม่มีการหายใจเกิดขึ้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องส่งเลือดผ่านไปฟอก แต่เมื่อสัตว์คลอดออกมาแล้ว มีการหายใจตามปกติ หลอดเลือด ductus arteriosus จะต้องค่อยๆปิดไปเพื่อให้เลือดไหลผ่านปอดฟอกเอาออกซิเจนที่ได้จากการหายใจก่อนกลับมาที่หัวใจฝั่งซ้ายและส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายต่อไป การคงอยู่ของหลอดเลือดดังกล่าวหลังคลอดนั้น จะทำให้การไหลของเลือดในหัวใจผิดปกติไปและก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้
สุนัขที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจเกินนี้ อาจพบอาการได้ตั้งแต่อายุไม่กี่เดือนไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์แล้ว และอาจพบว่ามีอาการน้อย ไปจนถึงมีอาการมาก ขึ้นกับขนาดของหลอดเลือด ductus arteriosus ที่เหลืออยู่ อาการที่มักพบ ได้แก่ โตช้า เหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลัง อ่อนแรง และหากมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย จะพบอาการหอบ หายใจลำบาก และเป็นลมได้
การตรวจวินิจฉัย จะพบความผิดปกติเบื้องต้นได้จากการตรวจร่างกาย คือ พบเสียงรั่วของหัวใจต่อเนื่องในทุกจังหวะ (continuous murmur) ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะต่อความผิดปกตินี้ และในหลายๆรายพบความผิดปกตินี้โดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายขณะที่จะเริ่มทำวัคซีนให้ลูกสุนัข ทั้งที่ลูกสุนัขยังไม่แสดงความผิดปกติใดๆ การถ่ายภาพรังสีช่องอก (X-ray) ช่วยประเมินขนาดของหัวใจที่ใหญ่กว่าปกติ และภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ได้ ซึ่งบ่งบอกว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว นอกจากนี้ การทำอัลตราซาวน์หัวใจ (echocardiography) ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้ดี ทำให้เห็นถึงขนาดของหลอดเลือดที่เหลืออยู่ได้ และในรายที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ อาจพิจารณาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ร่วมด้วย
การรักษาทางอายุรกรรม จะเป็นเพียงการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และประคองอาการเท่านั้น การรักษาที่ได้ผลดีที่สุด คือ ต้องทำการแก้ไขให้หลอดเลือดดังกล่าวปิดลงเพื่อให้การไหลเวียนเลือดกลับมาเป็นปกติ ซึ่งต้องใช้วิธีการทางศัลกรรม อาจใช้การผูกมัดหลอดเลือดดังกล่าวโดยตรง หรือในปัจจุบันจะมีการใส่อุปกรณ์คล้ายจุกเพื่อให้ไปอุดหลอดเลือดดังกล่าว เป็นต้น ภายหลังการศัลยกรรมแก้ไข สุนัขส่วนใหญ่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้ยาต่อ แต่อาจต้องเฝ้าระวังอาการในระยะยาว เนื่องจากบางรายมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมจากภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนหน้านี้ และอาจพัฒานาให้เกิดความผิดปกติอื่นๆของหัวใจตามมาได้เมื่อเวลาผ่านไป