617 จำนวนผู้เข้าชม |
เลี้ยงเต่าซูลคาต้าอย่างไร ไม่ให้เกิดนิ่ว
เขียนโดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)
มีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกัน 4 ประเด็น
1. เต่าซูลคาต้าเป็นนิ่วชนิดอะไร
2. เต่าซูลคาต้าเป็นนิ่วชนิดนี้ได้อย่างไร
3. เมื่อเกิดนิ่วแล้ว เราจะทราบได้อย่างไร และเต่าจะแสดงอาการอย่างไร
4. เรามีวิธีป้องกันอย่างไร นั่นคือจะเลี้ยงอย่างไรไม่ให้เป็นนิ่ว
ประเด็นแรก ชนิดนิ่วที่พบมากที่สุดในเต่าบกพันธุ์นี้มักจะถูกเข้าใจผิดมาอย่างยาวนานว่าเป็นนิ่วชนิดยูเร็ต ที่เกิดจากการสะสมกรดยูริคหรือได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูง และบางรายเกิดจากเต่าป่วยเป็นโรคไต ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้เกิดโรคเกาต์ได้ อย่างไรก็ตาม นิ่วที่พบในเต่าซูคาต้าไม่สัมพันธ์กับยูเร็ตหรือกรดยูริคมาก และอาการที่พบในเต่าซูคาต้าที่เป็นนิ่วไม่สัมพันธ์กับนิ่วยูเร็ตเลย แต่สัมพันธ์กับนิ่วชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “แคลเซียมออกซาเลต”
และพบว่าเต่าซูลคาต้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วชนิดนี้เป็นอันดับแรก และพบได้ตั้งแต่อายุเพียง 2 เดือนเท่านั้น และถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในซูลคาต้ามากกว่าเต่าสายพันธุ์อื่นๆ ออกซาเลตยังสามารถจับกับธาตุแมกนีเซียม โซเดียม และโพแทสเซียมได้เช่นกัน เกิดเป็นผลึกหรือนิ่ว แต่พบน้อยกว่าแคลเซียมออกซาเลต
ประเด็นที่สอง นิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตเกิดขึ้นได้อย่างไร
นิ่วจะพบในเต่าบกชนิดอื่นๆน้อย แต่พบมากกับซูลคาต้า แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงแบบเดียวกัน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 ปัจจัย ได้แก่ อาหารที่ได้รับ และการกินน้ำ
1. อาหารที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วชนิดนี้ คือ พืชที่สะสมกรดออกซาลิกไว้มาก ได้แก่ ผัก ยอดใบไม้ ดอกไม้หรือพืชที่อายุน้อย รวมถึงผลไม้หลายชนิด
2. เต่าซูลคาต้าเป็นเต่าเขตแห้งแล้ง ที่ส่วนใหญ่ได้รับน้ำจากอาหาร เรียกว่า perform water ไม่ใช่การดื่มน้ำโดยตรงหรือที่เรียกว่า free water แบบสัตว์ชนิดอื่นๆ การที่เต่าได้รับน้ำน้อยตามธรรมชาติจะส่งผลให้มีการขับกรดออกซาลิกและผลึกแคลเซียมออกซาเลตได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดการสะสมของผลึกแคลเซียมออกซาเลตได้มากกว่าสัตว์ที่ดื่มน้ำมาก หรือที่ได้รับพืชที่มีน้ำมาก
การสร้างนิ่ว เมื่อร่างกายเต่าซูลคาต้าได้รับกรดออกซาลิกจากผัก หรือพืชอายุน้อยหรือยอดหญ้า ยอดพืช เป็นประจำ จะมีการสะสมกรดเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะไปจับกับแคลเซียมในร่างกาย กลายเป็นผลึกหรือนิ่ว พบในหลายตำแหน่งในร่างกาย ในเต่าบกจะพบได้ทั้งในระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า “Gastroenterolith” และระบบปัสสาวะ ได้แก่ ไต และกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า “Urolith” แต่ในสัตว์ชนิดอื่นสามารถพบได้ที่สมอง จึงมีผลกระทบต่อระดับแคลเซียมในร่างกายโดยตรง เช่น ทำให้ขาดแคลเซียม จึงดึงแคลเซียมที่สะสมในกระดูกออกมาใช้ ในเต่าโตเต็มวัยที่เป็นนิ่วในภายหลัง จึงมักทำให้เกิดกระดองนิ่ม โดยเฉพาะกระดองอกหรือ plastron จะเห็นได้ชัด และกระดองผิดรูป ในเต่าอายุน้อยจะเกิดอาการแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต และกระดองไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์
ประเด็นที่สาม เมื่อเกิดนิ่ว นิ่วที่มีขนาดใหญ่จะไปกดทับทั้งช่องท้องและช่องออก ทำให้เต่าหายใจลำบาก โดยการยืดคอและกางขาหายใจ หรือยกตัวหายใจแรงขึ้น มักเป็นอาการที่พบได้เสมอ และอาจเข้าใจผิดว่าเต่ามาด้วยโรคระบบทางเดินหายใจได้ แต่อาการที่พบมากที่สุดและเจ้าของพาไปพบสัตวแพทย์ คือ อาการเบื่ออาหาร และไม่ขับถ่ายหรือพยายามเบ่ง อาการอื่นๆที่พบ คือ ซึม แคระแกร็น กระดองนิ่มหรือผิดรูป แม้ว่าจะเคยกระดองสมบูรณ์และแข็งมาก่อนแล้ว ซึ่งอาการดังกล่าวนี้จะไม่สัมพันธ์กับนิ่วชนิดยูเร็ตหรือโรคเกาต์
ประเด็นที่สี่ จะป้องกันการเกิดนิ่วได้อย่างไร
ต้องย้อนกลับไปดูปัจจัยเสี่ยงในประเด็นที่สอง
สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการให้ผักและพืชอายุน้อยติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะจะสะสมกรดออกซาลิกมาก จำเป็นต้องสลับด้วยพืชอายุมากชนิดอื่นๆ เพราะพืชแก่จะมีระดับของกรดออกซาลิกลดลง และยังให้เยื่อใยอาหารมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ดี เช่น ใบไม้แก่ หญ้า (ไม่ใช้ยอดหญ้า) หรือการให้ผักเต็มที่เพียงวันเดียวในสัปดาห์ หรือใช้ผักผสมผงหญ้าปรุงแต่ง (formulated hays) เช่น ทิโมธีมิลล์ (TIMOTHY MEAL, RANDOLPH) เพื่อเพิ่มระดับเยื่อใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และลดระดับกรดออกซาลิก และในวันอื่นๆ เน้นการกินหญ้าและใบไม้แก่แทน หรือทำการปล่อยแปลงสลับกับการกินผักปริมาณน้อย หรือสลับการกินผักวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน ขึ้นกับปริมาณการให้และความสามารถในการหาแหล่งอาหารสัตว์ หากเต่ามีอัตราการเจริญเติบโตไม่เป็นที่น่าพอใจจากการได้รับผักลดลง ซึ่งระดับเยื่อใยชนิดย่อยได้ (indigestible fibers) จะต่ำไปด้วย อาจใช้อาหารเม็ดเข้ามาช่วย เป็นการเพิ่มพลังงานและช่วยการเจริญเติบโต ให้เลือกอาหารเม็ดที่มีเยื่อใยสูง (แต่หากเกิน 27% จะทำให้โตช้า) หรือผลิตมาจากหญ้าเป็นหลัก ให้แร่ธาตุและวิตามินเสริมสำหรับการเจริญเติบโตที่ดี เช่น ทอร์ทอยส์แคร์ (TORTOISE CARE, RANDOLPH)
เพิ่มปริมาณการได้รับน้ำ ช่วยลดความเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัด
- เพิ่มโดยการกิน โดยการพรมน้ำกับพืชอาหารที่จัดให้ เนื่องจากพวกนี้ได้น้ำจากอาหารเป็นหลักไม่ใช่การดื่ม
- โดยการแช่น้ำ ให้น้ำผ่านทางทวารรวม อาศัยอิทธิพลของฮอร์โมนอาร์จินีนวาโซโทซิน (AVT) จะกระตุ้นให้ทวารรวมและลำไส้ใหญ่เกิดการบีบตัวย้อนกลับเพื่อเพิ่มการดูดซึมน้ำผ่านส่วนที่เรียกว่า “อะควาพอริน” ที่ผนังลำไส้ ช่วยลดการขาดน้ำได้ จะช่วยป้องกันและยังช่วยในการบำบัดโรคนิ่วได้ดี แต่หากแช่เป็นประจำอาจมีผลทำให้เกล็ดไม่สวย กลายเป็นหนังเรียบหรือเกล็ดตื้น
ลองพิจารณากันดูครับ โรคนี้ไม่ใช่โรคประหลาด องค์ความรู้ค่อนข้างชัดเจน บทความต่อไปจะเล่าถึงเรื่องของการวินิจฉัยและการรักษาทั้งทางอายุรกรรมและศัลยกรรม เพื่อให้สัตวแพทย์ที่สนใจและผู้เลี้ยงได้เข้าใจถึงวิธีการที่เหมาะสมในการตรวจและรักษา