การช่วยนกตกรัง

325 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การช่วยนกตกรัง

ได้เขียนเรื่องหลักการพยาบาลสัตว์ป่า (นก) ในครั้งก่อน นำมาใช้พิจารณาในการช่วยเหลือนกตกรังได้ (สามารถเข้าไปอ่านใน epofclinic หรือของรพส ขวัญคำทุกสื่อ) แม้ว่านกตกรังทำได้ง่ายโดยส่วนใหญ่ แต่บางกรณีก็ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะนกที่ยังบินไม่แข็งแรงมักจะตกและกระแทกกับพื้น หรือมีโอกาสบินชนก่อนจะพบว่านอนอยู่ที่พื้น ข้อสังเกตหนึ่งที่สามารถประเมินว่าเข้าภาวะฉุกเฉิน เมื่อประเมินผ่านหลักการ ABC คือ อาการซึมลงเรื่อยๆ และไม่ส่งเสียงร้อง แม้ว่าจะส่งเสียงก่อนหน้านี้หรือช่วงที่จับเพื่อเข้ากล่องออกซิเจนหรือตู้อนุบาลจะยังร้อง แต่เสียงจะเงียบหายไปทีละน้อย กลุ่มนี้มักได้รับบาดเจ็บภายในและอวัยวะภายในเสียหาย และโอกาสเสียชีวิตสูง

แต่จะมีอีกไม่น้อยที่มีโอกาสรอด ถ้าไม่บาดเจ็บหนัก และผู้พบเจอสามารถใช้ประเมินเบื้องต้นได้ โดยทำการแบ่งนกตกรังออกเป็น 3 ระยะ แต่ละระยะมีอันตรายและแนวทางแก้ไขแตกต่างกันเล็กน้อย

โดยแบ่งตามระยะเติบโต ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ลูกนกหรือนีโอเน็ต กลุ่มที่ 2 ช่วงกำลังเจริญเติบโตเป็นนกรุ่นหรือจูวีไนล์ ซึ่งนกรุ่นนี้จะเริ่มเห็นขนปีกและขนหางงอกขึ้นมาแล้ว แต่ในนกตกรังจะแบ่งเป็นปีกที่ยังไม่เต็มและยังบินหรือกระโดดไม่ได้ และกลุ่มที่ 3 จึงเป็นระยะนกรุ่นที่มีขนปีกและหางเต็มพร้อมที่จะบินและกำลังฝึกบิน

นกตกรังระยะที่อันตรายที่สุด จึงเป็นระยะนีโอเน็ต ที่ยังตัวแดงมีเพียงขนปุยปกคลุม ขนปลายปีกและหางยังไม่เจริญ เมื่อพบนกในระยะนี้ ถ้าลองเอาคืนรัง ก็ต้องคอยเฝ้าดูว่ายังมีพ่อแม่บินวนเวียน และแวะมาป้อนอาหาร ก็ถือว่ามีโอกาสรอด แต่หากพบอาการบาดเจ็บหรือสภาพอากาศเลวร้ายในช่วงเวลานั้น ให้พิจารณานำไปเลี้ยงอนุบาล อย่างไรก็ตาม นกระยะนี้ตกรังได้ยากจากความซุกซนของตน เว้นแต่พ่อแม่เขี่ยทิ้งเพื่อเลือกตัวที่แข็งแรง หรือคัดตัวป่วยทิ้ง หรือเป็นเพราะพายุลมแรง หรือถูกคุกคามด้วยสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงพลัดตก ด้วยปัจจัยของสาเหตุที่แตกต่างกัน ก็มีผลต่อการรอดด้วยการเลี้ยงด้วยพ่อแม่ ระยะนี้ส่วนใหญ่จึงมักนำมาเข้ามาอนุบาล

จะต่างจากระยะจูวีไนล์ ที่ลูกนกจะแข็งแรงมากขึ้น สาเหตุการตกรังจึงมักจะเกิดจากการปีนป่าย และฝึกบิน ในกรณีของนกรุ่นนี้ที่ยังบินไม่ได้ ค่อนข้างลำบากสำหรับพ่อแม่ในการคาบคืนรัง ผู้พบเห็นสามารถเอาคืนรังใกล้เคียง นกส่วนใหญ่ระยะนี้มักจะแข็งแรงและมีโอกาสรอดสูงกว่า ขณะที่นกที่บินได้แต่ยังไม่แข็งแรงจะพยายามบินโดยพ่อแม่จะเกาะกิ่งไม้เฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ ให้เฝ้าระวังอยู่เฉยๆ จนกว่าจะพบการปฏิเสธของพ่อแม่ หรือสภาพแวดล้อม สภาพอากาศเลวร้ายต่อนก ถึงตอนนั้นให้พิจารณานำมาอนุบาลด้วยตนเอง ในกรณีที่มีการตอบสนองในเชิงบวก จะพบพ่อแม่ป้อนอาหาร ยืนจับคอนอยู่ชิดกัน และลูกนกตอบสนองด้วยการร้องขานและกินอาหาร แต่ถ้าซึม ไม่ส่งเสียงร้อง หรือไม่ตอบสนองต่อพ่อแม่ เช่นเดียวกับที่แถวรังไม่มีพ่อแม่รออยู่เลย ให้พิจารณาส่งสัตวแพทย์เพื่ออนุบาล มักจะพบอาการบาดเจ็บ กระดูกหัก สมองและระบบประสาทกระทบกระเทือนจนแสดงอาการเข้าข่าย อวัยวะภายในอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นตามระดับความรุนแรง ซึ่งนกมักจะซ่อนอาการ ก็ต้องระมัดระวัง

หลักการเหล่านี้ดูเหมือนง่าย แต่ผู้ปฏิบัติจริงมักจะทราบว่ามันยากในการตัดสินใจ ระหว่างให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ได้แค่เฝ้าและช่วยเหลือเล็กๆน้อย กับลงมือช่วยเหลือเลย ซึ่งน่าจะง่ายกว่า และอัตราการรอดชีวิตด้วยการอนุบาลน่าจะสูงกว่า อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ จะช่วยป้องกันปัญหามนุษย์คุกคามและสูญเสียสัญชาตญาณของนกป่า นอกจากนี้ช่วยลดอัตราการตายจากภาวะตื่นกลัวและกล้ามเนื้อเสื่อมจากการจับและทำหัตถการต่างๆได้ เมื่อถึงหน้างานก็มีอะไรให้คิด และการเฝ้าสังเกตในขณะนั้นจะช่วยตอบปัญหาทั้งหมด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้